ข่าว

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

20 ต.ค. 2562

โดย ...กิ่งกาญจน์ ตรียงค์

( ภาพ YouTube / A Winning Approach - John Winning Keynote ) 

 

                        เมื่อพูดถึงคนรุ่น มิลเลเนียล หรือเจนเนอเรชั่น เอ็ม (Gen M) ซึ่งเกิดหลังปี 2523-2538 ก็จะนึกภาพออกเลยว่าเป็นประชากรกลุ่มที่เกิดและเติบโตมาพร้อมความสะดวกสบายด้วยเทคโนโลยีที่จับต้องได้รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นล้ำๆ หรือสื่อโซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่ใครๆ ก็ต้องการ อีกทั้งเป็นมนุษย์ทำงานรุ่นใหม่ที่ “พร้อมใช้” สำหรับภาคธุรกิจสมัยใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแทบทุกส่วนของการทำงาน

 

                       แต่สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่วัยเจน เอ็ม อย่าง “จอห์น วินนิ่ง” ซีอีโอของวินนิ่ง กรุ๊ป ยักษ์ค้าปลีกอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนอันดับต้นๆ และเก่าแก่ของประเทศออสเตรเลีย กลับมองต่างมุมออกไป หลังจากผ่านประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 3 ปีในการเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหาร และล่าสุด ถึงขั้นวิพากษ์ชาวมิลเลเนียลออกสื่อ จนสร้างกระแสความไม่พอใจบนสื่อโซเชียลแทบไม่ทันพ้นวัน

 

 

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

ภาพ winningappliances 

 

 

 

 

                       “คนพวกนี้คาดหวังการทำงานน้อยๆ แต่ได้เงินมากๆ บางคนที่เข้ามาสัมภาษณ์งาน ก็มุ่งแต่ว่าบริษัทจะให้เงินเดือนเท่าไร แทนที่จะถามว่าต้องทำงานอะไรบ้าง ปัจจุบันแม้บริษัทเราจะได้คนเก่งๆ ในเจน เอ็ม เข้ามาทำงานด้วย แต่ก็ยอมรับว่ากว่าจะเจอแต่ละคนนั้นยากมากๆ” นี่คือคำบ่นบางส่วนจาก ซีอีโอวัย 35 ปี และเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของบริษัทอายุ 113 ปีแห่งนี้

 

 

                       นอกจากอยากได้เงินมากๆ แล้ว ก็ยังอยากตำแหน่งโตเร็วอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่บริษัทยุคนี้ต้องทำใจไว้ก็คือ รับพนักงานใหม่มา ก็ต้องเสียเวลาฝึกอบรมก่อนทำงานได้จริง แต่พอฝึกเสร็จไม่กี่เดือน พวกนี้ก็จะขอตำแหน่งขึ้นและเงินเดือนเพิ่ม

 

 

 

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

 

 

                       ลูกเศรษฐีและทายาทกิจการอายุกว่า 100 ปีอย่างเขาเปรียบเทียบถึงตัวเองว่า เวลาคิดถึงการหาเงินให้ได้มากๆ จะนึกภาพตัวเองพับแขนเสื้อขึ้น และลุยทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ยันดึก แต่มนุษย์เงินเดือนชาวเจน เอ็ม ในยุคนี้ กลับนึกถึงแต่การร่ำรวยอย่างรวดเร็ว หรือวิธีการได้เงินแบบง่ายๆ

 

 

                      พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ของคนในรุ่นนี้ ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นจากการแพร่กระจายความนิยมของเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่เขานึกถึงอันดับแรกเลยก็คือ “การเกิดขึ้นของอินสตาแกรม" ได้เข้ามาทำลายสังคม ผู้ใช้อินสตาแกรมต่างก็แข่งกันโพสต์ภาพชีวิตดี๊ดี ที่มีอยู่แค่ 1% ของชีวิตมาอวดกัน จนเกิดเป็นกระแสวิ่งตามชีวิตหรูทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเงินจะทำได้แบบนั้น

 

 

                      “ผมมองว่าโลกเราทุกวันนี้ตกอยู่ในภาวะที่คนมีแต่ความอยากเพิ่มขึ้น และนั่นทำให้คนมีปัญหาท่วมตัว คนอยากออกไปกินข้าวนอกบ้านแพงๆ แม้ต้องใช้เงินหมดกระเป๋า เพราะเห็นเพื่อนๆ บนโซเชียลออกไปกินมื้อเช้า กลางวัน และเย็นตามร้าน มีชีวิตที่สุดยอด เดินทางไปยุโรปทุกปีเพื่อหนีฤดูหนาวของออสเตรเลีย เหล่านี้ทำให้คนเป็นหนี้ คนมากมายกำลังต่อสู้เพื่อรักษาไลฟ์สไตล์แบบที่เคยชิน ถึงเวลาที่โลกต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง”

 

 

 

                     ข้อวิพากษ์ของ “จอห์น วินนิ่ง” ถูกสื่อหลายสำนักรวมถึงสื่อบนโซเชียล สรุปความออกมาแบบย่อๆ ได้ว่า ชาวออสซี่รุ่นใหม่เกียจคร้าน, กลัวงานหนัก, คาดหวังงานน้อย แต่เงินมาก จนสร้างกระแสความไม่พอใจให้แก่ชาวเจน เอ็ม จำนวนมาก และพากันรุมถล่มเขาผ่านโซเชียล โดยเฉพาะทวิตเตอร์ แทบไม่ทันข้ามวันหลังคำให้สัมภาษณ์ ซึ่งประเด็นโต้กลับหลักๆ ก็คือ สถานะทางสังคมในบทบาทลูกเศรษฐีและทายาทเจ้าของกิจการนั่นเอง

 

                     ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างคอมเมนต์จากชาวโซเชียลเจน เอ็ม ต่อคำวิพากษ์ของซีอีโอหนุ่ม

‘เครือญาตินิยม (Nepotism) - แสดงโดย จอห์น วินนิ่ง, ซีอีโอ ต้องแกร่งมาก พ่อถึงยอมจ้างและเลื่อนตำแหน่งให้!’

‘คุณคงลำบากสินะ ที่ได้รับอะไรมาง่ายๆ’ จากนั้นมีคนมาแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ‘รุ่นที่ 4 #คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด – ง่ายนะกับการพูดสั่งสอนและยิ้มเยาะ ในเมื่อคุณเกิดมาก็ได้เป็นเจ้าของบริษัท’

‘เพื่อนๆ ที่รัก เขาต้องทำงานอย่างหนัก กว่าจะได้เป็นซีอีโอ รุ่นที่ 4 ในบริษัทของครอบครัว’

 

                     ขณะเดียวกัน สื่อสัญชาติออสซี่เองอย่าง Australian Financial Review (AFR) ก็ยังนำเสนอเชิงเหน็บแนมว่า เขาไม่มีเครดิตพอที่จะมาวิพากษ์เรื่องการใฝ่ชีวิตหรูหราของชาวมิลเลเนียล เพราะเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เขาเข้ามานั่งแท่นเป็นผู้จัดพิมพ์นิตยสารวินนิ่ง นำเสนอชีวิตหรูหราแบบยุคใหม่ และกำลังจะออกฉบับที่ 2 ตามมาเร็วๆ นี้ โดยได้ Katarina Kroslakova อดีตบรรณาธิการสินค้า/ลูกค้าแบรนด์หรู ของ AFR ไปทำงานด้วย

 

 

                    อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวก็เมินกระแสถล่มเหล่านี้ และบอกกับสื่อที่มาขอสัมภาษณ์ว่า คำวิพากษ์ที่พูดถึงคนรุ่นใหม่นั้น ไม่ได้เหมารวมไปถึงชาวเจน เอ็ม ทุกคน แต่เป็นการแสดงทัศนคติ จรรยาบรรณการทำงานในอุดมคติของคนรุ่นมิลเลเนียล ได้รับอิทธิพลจากสื่อโซเชียล และแรงกดดันที่อยากมีชีวิตหรูหราได้โดยไม่ต้องทำงานหนัก

 

                    “เราเป็นเจนเนอเรชั่นแรก ที่อยู่ในอิทธิพลของโซเชียลมีเดียอย่างเต็มตัว ก่อนที่ผู้คนจะเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของสื่อโซเชียล จากการสังเกตการณ์กลุ่มคนที่ผมเป็นผู้สัมภาษณ์งาน ผมเจอคนที่มาพร้อมความคาดหวังแบบผิดๆ (ว่าจะได้ทำงานน้อย เงินมาก) แบบนี้แยะมาก แต่นั่นแหละ ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ทั้งหมดนี้ถูกผลักดันจากโลกที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ และคอนเทนต์ที่เสพเข้าไป”

 

 

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

 

 

 รู้จักกับ จอห์น วินนิ่ง : ปั้นกิจการอายุกว่า 100 ปีสู่โลกออนไลน์

 

                    “จอห์น วินนิ่ง” จบการศึกษาระดับวิทยาลัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อาจจะแปลกที่เขาเป็นผู้บริหาร ซึ่งไม่เห็นความสำคัญของการเรียนมหาวิทยาลัย”

 

                    เขารับไม้ต่อจากบิดา ขึ้นเป็นซีอีโอ รุ่นที่ 4 ของกลุ่มบริษัท วินนิ่ง ในปี 2558 และภายในระยะเวลา 3 ปี สามารถสร้างรายได้บริษัทเติบโตเกือบ 2 เท่าตัว โดยสิ้นปีงบประมาณ 2561 มีผลประกอบการมากกว่า 650 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากจำนวนร้านค้าในเครือที่กระจายอยู่ 16 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ คู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอย่าง Good Guys ทำรายได้ปีเดียวกันไว้ 2.15 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากจำนวนร้านค้า 105 สาขา

 

                    นับตั้งแต่นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร รายได้ของวินนิ่ง กรุ๊ป เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี ฝ่ากระแสตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาพรวมที่หดตัวลงถึง 7% เพราะความรุนแรงของสงครามราคาจากค่ายผู้ผลิตแบรนด์เกาหลีและจีน หนึ่งในอาวุธสำคัญของบริษัทในยุคของเขาก็คือ ให้ความสำคัญกับงานด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

 

 

ทายาทรุ่น 4 ยักษ์ค้าปลีกออสซี่ ชำแหละชาวมิลเลเนียล

 

                    ความสำเร็จในบทบาทผู้บริหารและตัวเลขยอดขาย มาจากประสบการณ์ที่สั่งสมตั้งแต่เริ่มทำงานในบริษัทครอบครัวแห่งนี้ ในตำแหน่งพนักงานขายที่ต้องวิ่งออกไปนำเสนอสินค้าให้แก่ลูกค้าตามบ้าน ก่อนที่จะขยับมาตำแหน่งอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานจริง ซึ่งรวมถึงส่วนของโกดังสินค้า

 

 

                    เขายังเป็นผู้ริเริ่มแตกช่องทางการทำตลาดในรูปแบบเดิมๆ ตลอดกว่า 100 ปีของบริษัท เข้าสู่การทำตลาดออนไลน์ ด้วยการก่อตั้ง Appliances Online ขึ้นมาโฟกัสตลาดรูปแบบใหม่นี้โดยเฉพาะ (ก่อนจะสายเกินไป) หลังจากนำเสนอไอเดียกับบิดา ซึ่งเป็นอดีตซีอีโอ แล้วไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งกลายเป็นกิจการที่ทำกำไรอย่างรวดเร็วให้แก่กลุ่มบริษัท

 

 

                    ซีอีโอ วัย 35 ปีรายนี้ พูดถึงสไตล์ในการทำงานและบทบาทการเป็นผู้นำว่า "เราต้องลงมือทำเป็นตัวอย่าง ต้องมีทักษะที่พนักงานส่วนใหญ่มี ผมไม่มีทักษะของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แต่มีความเข้าใจพอที่จะพูดคุยเรื่องการเขียนโค้ดกับพวกเขาได้ และผมยังมีความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดี ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ และการจัดส่งสินค้า ผมมองว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อใครถามก็ตอบได้ และยังใช้ในการจ้างคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงานนั้นๆ ด้วย”