ข่าว

ผีน้อยไทยหนีตม.เกาหลีใต้ตกเขาดับ จุดคำถามนโยบายกวาดล้าง

ผีน้อยไทยหนีตม.เกาหลีใต้ตกเขาดับ จุดคำถามนโยบายกวาดล้าง

21 ต.ค. 2562

นักเคลื่อนไหวตำหนิการกวาดล้างผีน้อย แก้ปัญหาปลายเหตุ  แต่เป็นนโยบายเข้าเมืองของเกาหลีใต้เองด้วยที่ต้องรื้อ  



โคเรีย เฮรัลด์  สื่อเกาหลีใต้ นำเสนอรายงานพิเศษ เกี่ยวกับนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น ที่กำลังถูกตั้งคำถามจากนักเคลื่อนไหวและนักสิทธิมนุษยชน หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมเมื่อเดือนก่อน  ชายไทยวัย 29 ปีเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีการจับกุม 

 

 


คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นรถตู้สีเทาขับไปจอดหน้าโรงงานแห่งหนึ่ง ในเมืองกิมแฮ  จังหวัดคย็องซังใต้  พอลงจากรถ คนงานตะโกนบอกกันว่า “จนท.มาแล้ว” ก่อนรีบหลบหนีกันจ้าละหวั่น   

 


ปฏิบัติการในวันนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมผีน้อย 8 คน จากไทย 3 คน จากจีน 4 และเวียดนาม 1  แต่ต่อมา พบชายไทยหมดสติอยู่บริเวณภูเขา ห่างจากโรงงานประมาณ 100 เมตร ก่อนถูกนำตัวส่งรพ. และเสียชีวิตที่นั่น สาเหตุการเสียชีวิตยังอยู่ระหว่างสอบสวน แต่เชื่อว่าเกิดจากพยายามหลบหนี 

 

 

ผีน้อยไทยหนีตม.เกาหลีใต้ตกเขาดับ จุดคำถามนโยบายกวาดล้าง

 


กระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทำตามขั้นตอน และบังคับใช้กฎหมายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ได้ใช้กำลังเกินจำเป็น 

 


ตามระเบียบกระทรวง  ตม.จะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานผิดกฎหมาย จัดทำแผนกวาดล้าง รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย  ไปเยือนสถานที่นั้นก่อนล่วงหน้า เมื่อไปถึงแล้ว ก็จะต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่นายจ้าง เพื่อขอความยินยอมก่อนเข้าตรวจค้น  

 

 

กระนั้น นักเคลื่อนไหวคงมองว่าการเสียชีวิตของแรงงานชาวไทย เป็นการกระทำโดยประมาท และเป็นผลจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ 

 

 

เมื่อแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายถูกไล่กวด พวกเขาตื่นตระหนกและวิ่งหนีไปแอบทั่วโรงงานที่เครื่องจักรยังเดินเครื่องอยู่ อีกทั้งยังมีวัตถุอันตรายจำนวนมาก ” คิม คยอง มี  ล่ามที่ช่วยเหลือแรงงานชาวจีนที่ถูกจับระหว่างปราบปราม  

 


ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผีน้อยจบชีวิตเพราะหนีตม. 

 

 

ในปี 2561 Than Zaw Htay ชาวเมียนมาวัย 27 ปี พลักตกลานก่อสร้างในเมืองคิมโป จังหวัดคยองคี ขณะพยายามหลบหนีการกวาดล้างเช่นกัน 

 


สถิติทางการพบว่า มีผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บอีก 10 จากการกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมายในช่วง 10 ปี   

 


เชก อัล มามุม เจ้าหน้าที่บังกลาเทศจากสหภาพการค้าผู้อพยพโซล-คยองคี-อินชอน กล่าวว่า มีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น ไม่แสดงบัตรประจำตัว หรือขอความยินยอมจากนายจ้างก่อนเข้าจับกุม ปฏิบัติกับแรงงานต่างด้าวราวกับอาชญากรและไล่จับพวกเขา

 


ทางการเกาหลีใต้ยืนยันว่า การกวาดล้างเข้มข้นมีความจำเป็น เพื่อป้องปรามคนอีกมากที่คิดจะเข้าไปพำนักในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย  

 


ยอดชาวต่างชาติที่อยู่ในเกาหลีใต้โดยไม่มีเอกสารถูกต้องปัจจุบันอยู่ที่ราว 3.8 แสนคน เพิ่มขึ้นมาก จาก 208,971 คนในปี 2560  นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังยกความวิตกในหมู่ชาวเกาหลีใต้ ที่มองว่าชาวต่างชาติเข้าไปแย่งงานคนท้องถิ่น โดยเฉพาะงานก่อสร้าง อีกทั้งหากไม่จัดการกับแรงงานกลุ่มนี้ ก็ไม่เป็นธรรมกับแรงงานที่เข้าไปอยู่อย่างถูกกฎหมายเช่นกัน 

 


อย่างไรก็ดี คิม ฮยอง จิน ประธานศูนย์สิทธิมนุษยชนกิมแฮ เรียกร้องให้ทางการดำเนินการกวาดล้างอย่างรัดกุม เช่น ควรขอหมายจับก่อนเข้าตรวจค้นที่ทำงาน แต่กระทรวงยุติธรรม ระบุว่าการกวาดล้างชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศอย่างผิดกฎหมาย เป็นกระบวนการทางการปกครอง  การใช้ระเบียบวิธีตามกฎหมายอาญา อย่างการออกหมายจับ  ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจับและเนรเทศทันที

 


กระนั้น การปราบปรามอย่างที่ทำมา ไม่ได้ส่งผลให้จำนวนแรงงานเถื่อนลดลงแต่อย่างใด ทั้งดูเหมือนเป็นการผลักดันพวกเขาหลบซ่อนตัวแทน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

 

โช ยอง-กวาน ทนายกลุ่ม  Migrants Center Friend ชี้ว่า ปัจจุบัน กวาดล้างมีขึ้นเฉพาะในบางสถานที่เท่านั้น สะท้อนว่ายังไม่ใช่ยาแรงพอที่จะส่งสัญญาณไปยังนายจ้างและแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายได้ เป็นแค่การแสดงเท่านั้น 

 


ขณะกระทรวงยุติธรรมย้ำความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบุคลากรในการออกกวาดล้างแรงงานผิดกฎหมาย ที่ปัจจุบัน มีสัดส่วนอยู่ที่ 1,416 คนต่อเจ้าหน้าที่ 1 คน

 

ผีน้อยไทยหนีตม.เกาหลีใต้ตกเขาดับ จุดคำถามนโยบายกวาดล้าง

( จุดที่พบชายไทยหมดสติ ) 

 


โช กล่าวว่า การสกัดกั้นการเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้น  แทนที่จะมุ่งเน้นที่การปราบปราม  รัฐบาลควรแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งมาจากนโยบายมองใกล้ของเกาหลีใต้เอง  เขาชี้ว่าเกาหลีใต้เปิดประเทศรับชาวต่างชาติ ในช่วงเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ เช่น โอลิมปิกฤดูหนาวพย็องชาง ด้วยการผ่อนปรนระเบียบวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศไทยและคาซัคสถาน  

 


ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่อยู่เกินวีซ่า คือคนที่เข้าไปอย่างถูกกฎหมายด้วยวีซ่านักเรียนหรือทำงาน หรือยังอยู่ต่อหลังจากเข้าประเทศผ่านระบบปลอดวีซ่า  แต่ไม่ว่าจะด้วยวีซ่าแบบไหน พวกเขาเข้าไปในเกาหลีใต้เพื่อหางานทำ ซึ่งก็เพราะว่า มีความต้องการแรงงานส่วนนี้ด้วย เนื่องจากนายจ้างในประเทศต้องการแรงงานราคาถูก “โครงสร้างเช่นนี้ควรได้รับการแก้ไข ทั้งเพื่อรับมือกับชาวต่างชาติพำนักโดยไม่มีสถานะกฎหมายรองรับ และเพื่อปกป้องตลาดแรงาน”  

 

 

แม้เกาหลีใต้ลงนามข้อตกลงภายใต้ระบบอนุญาตจ้างงาน กับ 16 ประเทศในอาเซียนและเอเชียกลาง เพื่อเติมแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิต เช่น ประมงและเกษตร ที่ชาวเกาหลีไม่ต้องการทำเพราะค่าแรงต่ำและสภาพการทำงานไม่ดี  แต่แรงงานแบบถูกกฎหมาย ก็ยังไม่พอความต้องการของผู้ผลิตรายเล็กและภาคเกษตร จึงสร้างโอกาสให้กับแรงงานเถื่อน  

 

 

อัล มามุน เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ จากสหภาพแรงงานอพยพโซล-คยองคี-อินชอน จึงเสนอว่า ควรนำแรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ในเกาหลีใต้มานานกว่า 15 ปี เข้าไปอยู่ในระบบ เพราะทักษะและประสบการณ์ของพวกเขา มีส่วนช่วยเศรษฐกิจได้ และนั่นก็เป็นสิ่งที่นายจ้างเกาหลีต้องการเช่นกัน