ข่าว

คนทำงานต้องมีความสุขก่อน หัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น

คนทำงานต้องมีความสุขก่อน หัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น

22 ต.ค. 2562

ญี่ปุ่น ตื่นตัวสร้างโมเดลดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืน จับมือ รร.รามบริรักษ์เชียงใหม่ สอนหลักสูตรพนักงานพยาบาล ตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย ทำงานอย่างมีความสุข


22 ตุลาคม 2562 ในยุคของสังคมผู้สูงอายุ กำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของหลายๆประเทศ ที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ ว่าควรจะมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไรให้ดีที่สุด  

 

โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบภาวะขาดแคลนแรงงานบริบาลอย่างหนัก สวนทางกับจำนวนของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ต่างตื่นตัวที่จะสร้างโมเดลการดูแลผู้สูงอายุแบบยั่งยืน 

 

เมืองโคกะ จังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ เมืองของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องประสบปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนประชากรจะมีเพียง 1.4 แสนคน แต่ขณะนี้ร้อยละ 20 เป็นประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงจะเห็นได้ว่า เมืองนี้มีสถานบริบาลผู้สูงอายุมากถึง 4 แห่ง รองรับผู้สูงอายุพักประจำแล้วกว่า 300 คน และยังมีผู้สูงอายุที่เดินทางไปกลับอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันนี้เป็นเมืองนำร่องที่มีการรับแรงงานไทยเข้าไปประกอบอาชีพบริบาลผู้สูงอายุตามาตรฐานแรงงานญี่ปุ่น   

 

ล่าสุด ได้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น กับโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนหลักสูตรการอบรมพนักงานทางการพยาบาลมานานกว่า 23 ปี เป็นโรงเรียนแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ทำเอ็มโอยูร่วมกับสถานพยาบาลในประเทศญี่ปุ่น ได้จัดส่งนักเรียนไทยไปทำงานในสถานพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นเป็นรุ่นแรก 5 คน ในตำแหน่ง พนักงานดูแล และพนักงานช่วยเหลือ มีอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่ากับพนักงานชาวญี่ปุ่น ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสสร้างทักษะอาชีพให้กับแรงงานไทยในต่างแดน 

 

 

คนทำงานต้องมีความสุขก่อน หัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น

 

 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว งานบริบาลผู้สูงอายุไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง จึงต้องมีการสร้างความร่วมมือไปยังประเทศใกล้เคียง อย่างประเทศไทย , เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในการพัฒนาแรงงานบริบาลเข้ามาทำงาน โดย Mr.Makoto Mori President of Social Welfare Corporation AIwakai ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานบริบาลผู้สูงอายุ 3 แห่ง ในเมืองโคกะ บอกว่า ทุกวันนี้เราเปิดพื้นที่รองรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำทำงานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

"ตัวเขาเองทำธุรกิจสถานบริบาลผู้สูงอายุในเมืองโคกะ จังหวัดอิบารากิทำมานาน กว่า 16 ปีแล้ว สามารถรองรับผู้สูงอายุจำนวน 318 คน โดยเหตุจูงใจที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ เกิดจากคุณย่าของเขาไม่สามารถเข้าไปรับการดูแลในสถานบริบาลผู้สูงอายุได้ เพราะปริมาณคนสูงอายุมีเป็นจำนวนมาก จึงมองว่า ไม่ใช่ครอบครัวของเขาครอบครัวเดียวที่ต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้ แต่เหมือนกันทั้งประเทศญี่ปุ่น" Mr.Makoto Mori กล่าว 

 

การทำงานที่ต้องมีกลไกจากคนเป็นเครื่องมือสำคัญนั้น เขามองว่า ต้องใช้หลักของความสุขเป็นพื้นฐานให้กับคนที่ทำงานด้านการบริบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา ไม่ว่าจะเป็นที่สถานบริบาลที่ AIWAKAI หรือสถานบริบาล KIBOUNOMORI และสถานบริการ AIWAEN พนักงานที่นี่จะต้องทำงานด้วยใจรักจริงๆ เพราะหากว่า คนทำงานมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำ มีองค์กรที่คอยเป็นผู้หยิบยื่นแนวทางการทำงานที่สนับสนุนให้การทำงานแบบมีความสุข ก็จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลได้เป็นอย่างดี 

 

 

คนทำงานต้องมีความสุขก่อน หัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น

 

 

สำหรับความร่วมมือกับทางโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่นั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นช่วยคัดกรองคนไทยที่มีใจรักในอาชีพนี้ เข้ามาทำงานด้านบริบาลผู้อายุชาวญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อมาอยู่ที่นี่ยังได้มีโอกาสต่อยอดในการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย โดยจะมีการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนไทย และจัดสวัสดิการ รวมถึงวันหยุด และการพักร้อนตามมาตรฐานการจ้างงานของประเทศญี่ปุ่น อย่างน้อยหากว่าทำงานครบ 3 ปีแล้ว ยังสามารถนำเอาองค์ความรู้ และเทคนิคการดูแลผู้อายุกลับมาทำงานในประเทศไทยได้

 

จากการที่คนไทยมาทำงานที่นี่เบื้องต้น 2 คน จากที่ตั้งเป้าอยากได้ปีละ 10 คนนั้น พบว่าคนไทยมีการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุได้ดี และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่สิ่งหนึ่งที่คาดหวังไว้คือ อยากให้คนไทยที่จะเข้ามาทำงานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ได้เข้าใจถึงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น เพื่อจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากว่าเป็นไปได้อยากให้คนไทยพัฒนาภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อต่อยอดในการทำงานและสามารถสื่อสารแบบสองทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ขณะที่ภาครัฐของเมืองโคกะได้ตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น โดย Mr.Chikara Hariya นายกเทศมนตรีเมืองโคกะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมาดูศักยภาพการเรียนการสอนของนักศึกษาที่จะทำงานด้านบริบาลผู้สูงอายุของโรงเรียนรามบริรักษ์เชียงใหม่ และเมื่อมีการจัดส่งแรง งานไทยเข้าไปทำงานที่เมืองโคกะเป็นรุ่นแรก พบว่า ทุกคนเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี คนไทยมีจิตใจดี มีความอ่อนน้อม และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี จึงมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการทำงาน

 

 

คนทำงานต้องมีความสุขก่อน หัวใจบริบาลผู้สูงอายุญี่ปุ่น

 

 

Mr.Chikara Hariya นายกเทศมนตรีเมืองโคกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทางเทศบาล พร้อมที่จะดูแลตามมาตรฐานแรงงานของประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกันกับทางสถานบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น ก็พร้อมที่จะสนับสนุนสวัสดิการ มีการทำงานตามมาตรฐานวันละ 9 ชัั่วโมง และมีวันพักร้อน ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น และการสอบใบประกอบวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริบาลผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และขาดแคลนแรงงานบริบาลผู้สูงอายุกว่า 6 หมื่นคน 

 

อีกทั้งอาชีพการบริบาลผู้สูงอายุ เป็นอาชีพที่คนญี่ปุ่น ไม่นิยมกัน เพราะว่าเป็นอาชีพที่ค่อนข้างหนัก และเหนื่อย อีกทั้งการทำงานไม่เป็นเวลา โดยเฉพาะในเมืองโคกะ มีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบ 4 หมื่นคน  ซึ่งทางเทศบาลเมืองโคกะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเป็นนโยบายที่จะดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าหมายไม่ให้คนสูงอายุชาวญี่ปุ่นต้องมารอเข้าสถานบริบาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีการวางแผนและสนับสนุนให้เกิดสถานบริบาลให้เพียงพอกับจำนวนของผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแล

 

ในแต่ละปี ทางเทศบาลเมืองโคกะได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุประมาณ 1,000 ล้านบาท จึงอยากแนะนำให้คนไทยที่จะเข้ามาทำงานด้านการบริบาลที่ประเทศญี่ปุ่นได้เรียนรู้การปรับตัวให้เข้าคนญี่ปุ่นได้ ซึ่งการเข้ามาทำงานของคนไทยในการบริบาลผู้สูงอายุในเมืองโคกะเป็นชุดแรก  จำนวน 5 คน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นให้ช่วยกันสร้างงานสร้างอาชีพ และเป็นโอกาสดีที่คนไทย จะได้เข้ามาประกอบอาชีพนี้ โดยอยากให้นำรูปแบบ และเทคนิคการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ไปพัฒนาที่ประเทศไทย เพราะต่อไปประเทศไทยก็ต้องมีบริบทในการเผชิญกับปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศญี่ปุน 

 

 

สกาวรัตน์ ศิริมา รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-สำรวจข้อมูลพบผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี ถึง 24 ราย
-พัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
-วิทยุม.ก.ผนึกกรมผู้สูงอายุจัดโครงการร.ร.ผู้สูงอายุทางอากาศ
-ลงทะเบียนชิมช็อปใช้ ผู้สูงอายุทำไม่เป็น มีตัวช่วย