ข่าว

เปิดความหมาย กระทำความผิดราชสวัสดิ์

เปิดความหมาย กระทำความผิดราชสวัสดิ์

22 ต.ค. 2562

เปิดความหมาย กระทำความผิดราชสวัสดิ์ เหตุผล โปรดเกล้าฯ ถอดฐานันดรศักดิ์ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี

 

               เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ และยศทหาร ตลอดจนเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เนื่องจากกระทำความผิดราชสวัสดิ์ และไม่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

 

 

 

               "กระทำความผิดราชสวัสดิ์" คือ หนึ่งในเหตุผล โปรดเกล้าฯ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พ้นตำแหน่ง ความผิดนี้คืออะไร 

 

               ราชสวัสดิ์ เป็นคำสอนที่สืบต่อกันมายาวนาน โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชบริพารและทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยมีการอธิบายว่ามีที่มาจาก “ราชวัสตี” แต่ด้วยการออกเสียง ราด-ชะ-วะ-สะ-ตี แบบแขกหรือแม้เปลี่ยนเสียงออกไทยเป็น ราด-ชะ-วัด-สะ-ดี แล้วก็ยังไม่คล่องปาก กอปรกับคงจะมีความเข้าใจผิดอะไรสักอย่าง จึงมีการเรียกขานชื่อเสียใหม่เป็น ราด-ชะ-สะ-หวัด (อ้างอิงจาก รฦก / วัฒนรักษ์)

 

               จากเอกสารวิชาการเรื่อง หลักนิติธรรมในนโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี สำนักพระราชวัง ซึ่งจัดทำโดย ดร.ดิสธร วัชโรทัย และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า สำนักพระราชวังเป็นองค์การที่ปฏิบัติงานถวายแด่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งงานราชการแผ่นดินและงานส่วนพระองค์ มีการปรับปรุง แก้ไข กฎ ระเบียบข้อบังคับ และกติกาต่างๆ ให้ทันยุคสมัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม

 

               แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดำรงไว้ ซึ่งระเบียบแบบแผน ขนบจารีตประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ดังเช่น ราชสวัสดิ์ 10 ประการ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานไว้ เพื่อเป็นข้อเตือนใจและข้อปฏิบัติแก่ข้าราชสำนัก ซึ่งข้าราชสำนักทุกคนก็ได้ยึดเป็นข้อปฏิบัติสืบต่อกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

 

                                        ราชสวัสดิ์

โบราณว่าเป็นข้าจอมกษัตริย์        ราชสวัสดิ์ต้องเพียรเรียนรักษา

ท่านกําหนดจดไว้ในตํารา             มีมาแต่โบราณช้านานครัน

หนึ่ง วิชาสามารถมีอย่างไร          ไม่ปิดไว้ให้ท่านทราบทุกสิ่งสรรพ์

หนึ่ง กล้าหาญทําการถวายนั้น      มุ่งมั่นจนสําเร็จเจตนา

หนึ่ง มิได้ประมาทราชกิจ              ชอบผิดตริตรึกหมั่นศึกษา

หนึ่ง สัตย์ซื่อถือธรรมจรรยา         เหมือนสมาทานศีลไว้ให้มั่นคง

หนึ่ง เสงี่ยมเจียมตัวไม่กําเริบ       เอื้อมเอิบหยิ่งเย่อเพ้อหลง

หนึ่ง อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์         ไม่ทําเทียมด้วยทะนงพระกรุณา

หนึ่ง ไซร้ไม่ร่วมพระราชอาสน์     ด้วยอุบาทว์จัญไรเป็นหนักหนา

หนึ่ง เข้าเฝ้าสังเกตซึ่งกิจจา         ไม่ใกล้ไกลไปกว่าสมควรการ

หนึ่ง ผู้หญิงชาวในไม่พันพัว         เล่นหัวผูกรักสมัครสมาน

หนึ่ง สวามิภักดิ์รักใครในภูบาล     ถึงถูกกริ้วทนทานไม่ตอบแทน