ข่าว

เกาหลีใต้ยอมสละสถานะประเทศกำลังพัฒนาในองค์การการค้าโลก

เกาหลีใต้ยอมสละสถานะประเทศกำลังพัฒนาในองค์การการค้าโลก

25 ต.ค. 2562

รัฐบาลโซลจำนนแรงกดดันสหรัฐอเมริกา สละสถานะประเทศกำลังพัฒนาไม่ขอสิทธิพิเศษในการเจรจาองค์การการค้าโลกในอนาคต


นายฮอง นัม คี รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ แถลงวันนี้ว่า คงเป็นไปได้น้อยมากที่ประชาคมโลกจะยอมรับได้ว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในการเจรจาการค้าโลกในอนาคต และหากชะลอการตัดสินใจออกไปอีก อาจบั่นทอนอำนาจต่อรองของเกาหลีใต้เอง 



“เราอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ที่ประชาคมระหว่างประเทศจะยอมรับว่าเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา จากสถานะทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในเวลานี้” รัฐมนตรีคลังแถลงที่กระทรวงต่างประเทศ ในกรุงโซล 

 


แถลงการณ์ในวันนี้มีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ พยายามกดดันให้ประเทศที่ถือว่าตนเองเป็นประเทศกำลังพัฒนา  ไม่ให้ได้รับสิทธิพิเศษที่ติดกับสถานะนี้อีกต่อไป ที่ผ่านมา บราซิล สิงคโปร์ ยอมสละสถานะ ส่วนจีนปฏิเสธ 


ทรัมป์เตือนว่าสหรัฐจะไม่ปฏิบัติกับสมาชิกองค์การการค้าโลกใดก็ตาม ที่วอชิงตันไม่ได้มองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา และต้องการให้องค์การการค้าโลกถอนสถานะประเทศกำลังพัฒนา ที่ เป็นสมาชิกกลุ่ม จี-20  เป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ( โออีซีดี) และประเทศรายได้สูงตามเกณฑ์ธนาคารโลก และมีสัดแบ่งการค้าโลกอย่างน้อย 0.5% 

 


ซึ่งเกาหลีใต้มีคุณสมับติครบถ้วนตามเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ยากที่จะรักษาสถานะประเทศกำลังพัฒนา อย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่องค์การการค้าโลกก่อตั้งในปี 2538 เพื่อปกป้องภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะข้าว 

 


รัฐมนตรีคลังเกาหลีใต้ แถลงว่า เอกสิทธิ์ของประเทศกำลังพัฒนา เป็นเรื่องของการเจรจาการค้าพหุภาคีในอนาคต ซึ่งหมายความว่าการอุดหนุนสินค้าเกษตรของเกาหลีใต้และกำแพงสินค้าเกษตร จะยังไม่ได้รับผลกระทบต่อให้ตัดสินใจยกเลิกสถานะนี้แล้ว นอกจากนี้เชื่อว่า เกาหลีใต้มีเวลาและทรัพยากรมากพอ รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจาในอนาคต รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องภาคเกษตร พร้อมย้ำว่ากว่าที่สมาชิกดับเบิลยูทีโอจะรื้อฟื้นการเจรจาและตกลงกันได้ อาจใช้เวลนาน 

 

การตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดีมู แจ อิน มีขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเกษตรกรในประเทศ และสันนิบาติชาวนาเกาหลี ซึ่งมีสมาชิกเกษตรกร 3 แสนคนทั่วประเทศ ประกาศจัดชุมนุมกดดันรัฐบาลถอนการตัดสินใจ 

 

ปัจจุบัน เกาหลีใต้เรียกเก็บภาษีสูงถึง 513% สำหรับข้าวนอกโควตานำเข้า 409,00 ตันต่อปีจากสหรัฐ และอีก 4 ประเทศ  

 

การอุดหนุนสินค้าเกษตรของเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าผลผลิตการเกษตรแต่ละปี โดยมีเพดานอุดหนุนอยู่ที่ราว 11.49 ล้านล้านวอน