จากแชร์'แม่ชม้อย'สู่แชร์'แม่มณี'
แชร์ลูกโซ่จากอดีต"แม่ชม้อย" สู่ปัจจุบัน"แม่มณี" เหยื่อมโหฬาร สูญเงินมหาศาล
คดีฉ้อโกงลักษณะแชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาแล้วยาวนาน และปรากฏเป็นข่าวมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะตอนนี้ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในคดีแชร์แม่มณี แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะออกมาแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง แต่ด้วยสังคมปัจจุบันมีช่องทางโซเชียลมีเดียให้เข้าถึงแบบออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย จึงเป็นเหตุให้มีเหยื่อและมูลค่าความเสียหายมากกว่าอดีต
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ที่ให้ความสำคัญช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ ได้โพสต์บทความ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยเรียนรู้เรื่องนี้จากอดีตสู่ปัจจุบัน ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "สามารถ เจนชัยจิตรวนิช" ว่า จากแชร์แม่ชม้อย สู่แชร์แม่มณี วันนี้ผมขออนุญาตหยิบยกแชร์ลูกโซ่ในอดีต ตลอดจนถึงบิดาการโกงแชร์ลูกโซ่เป็นใครมาจากไหน
ถ้าพูดถึงแชร์ลูกโซ่ในเมืองไทยต้องพูดถึงแม่ชม้อย นางชม้อย ทิพย์โส เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ที่อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี บิดาชื่อ นายหลง มารดาชื่อ นางบัว ประเสริฐศรี สำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนราชินีบน ได้ทำการสมรสกับ น.ท.พจน์ ทิพย์โส มีบุตรด้วยกัน 2 คน เริ่มต้นทำงานที่องค์การเชื้อเพลิงในตำแหน่งเสมียนธุรการ เมื่อ พ.ศ. 2504 ครั้งหลังสุดดำรงตำแหน่งประจำแผนกฝ่ายบริการทั่วไปและช่วยงานกองกลางฝ่ายบริหารทั่วไป
นางชม้อยได้รับการชักชวนจากนายประสิทธิ์ จิตต์ที่พึ่ง เพื่อนร่วมงานที่องค์การน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งได้ทำการค้าน้ำมันอยู่ก่อนแล้ว ให้เข้าร่วมลงทุนค้าน้ำมันด้วย เมื่อทำได้ระยะหนึ่ง นางชม้อยเห็นว่าได้ผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงจริง จึงได้ชักชวนบุคคลอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยและจากการบอกต่อๆ กันทำให้มีผู้สนใจร่วมลงทุนค้าน้ำมันกับนางชม้อยด้วยเป็นจำนวนมาก
นางชม้อยได้คิดค้นวิธีการหลอกลวงประชาชนขึ้นโดยอ้างว่า ดำเนินกิจการค้าน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ โดยจัดตั้งบริษัทค้าน้ำมันชื่อ บริษัท ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด ทำการค้าน้ำมันทุกชนิด มีเรือเดินทะเลสำหรับขนส่งน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ ได้ชักชวนประชาชนให้มาเล่นแชร์น้ำมัน โดยวิธีการรับกู้ยืมเงินจากประชาชนและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นรายเดือน โดยกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี และในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักเงินไว้ร้อยละ 4 ของผลประโยชน์ที่ได้รับในรอบปี เพื่อเก็บภาษีการค้าและหักค่าเด็กปั้มไว้อีกเดือนละ 100 บาท ตามจำนวนเดือนที่นำเงินมาให้กู้ยืมโดยจะออกหลักฐานไว้ให้เป็นสัญญากู้ยืมเงินตามแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือบางรายจะออกหลักฐานให้เป็นเช็ค โดยผู้ให้กู้ยืมสามารถเรียกคืนเงินต้นเมื่อใดก็ได้และจะกลับมาให้กู้ยืมอีกก็ได้ในเงื่อนไขเดิม
นางชม้อยได้จ่ายผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ตรงตามเวลาที่ นัดหมายทุกเดือน นอกจากนั้นในรายที่จะถอนเงินต้น ก็สามารถถอนได้ทุกราย อีกทั้งนางชม้อยยังทำงานอยู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอีกด้วย ทำให้หลงเชื่อนำเงินไปให้ผู้ต้องการกู้ยืมโดยมีผู้ถูกหลอกลวงกว่าหมื่นรายและวงเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท) ในช่วงแรกผู้ให้กู้ยืมอยู่ในหมู่ผู้ที่มีฐานะการเงินดี แต่ต่อมาได้แพร่หลายออกไปรวมทั้งประชาชนในต่างจังหวัดก็นิยมและได้แพร่หลายลงไปถึงประชาชนผู้มีฐานะการเงินไม่ดีก็สามารถเล่นได้ โดยแบ่งเล่นเป็นล้อคือ หนึ่งในสี่ของจำนวนเงินต่อคันรถน้ำมัน
มีประชาชนและผู้เสียหายในคดีนี้จำนวน 13,248 คน หลงเชื่อ ซึ่งต่างคนต่างให้กู้ยืมเงินไป 23,519 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,043,997,795 บาท และได้ทำหนังสือสัญญากู้ไว้จำนวน 23,519 ฉบับ เพื่อเป็นหลักฐาน
ในการกู้ยืมเงิน เป็นการให้กู้ยืมโดยตรงและการกู้ยืมเงินโดยผ่านคนกลาง หลักฐานการกู้ยืมเงินจะมีสัญญากู้เงินซึ่งมีลายมือชื่อนางชม้อยฯ เป็นผู้กู้ยืม ผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ให้กู้ยืมการรับผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ให้กู้ยืมมีทั้งรับจากนางชม้อยฯ โดยตรงหรือรับจากคนกลางเหล่านั้น การรับผลประโยชน์ตอบแทนผู้ให้กู้ยืมได้รับเป็นเงินสดหรือเป็นเช็ค ซึ่งนางชม้อยได้เปิดบัญชีไว้กับธนาคารในนามของตนเองก็มี บางบัญชีเปิดในนามของบุคคลอื่นเพื่อสั่งจ่ายเช็คเป็นผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ให้กู้ยืม และนำเช็คของผู้ให้กู้ยืมเข้าบัญชีที่ได้เปิดไว้ สำหรับเงินที่กู้ยืมมานั้น นางชม้อยฯ อ้างว่า ได้นำไป ใช้สนับสนุนในด้านการเงินของบริษัทปิโตรเลี่ยมแอนมารีนเซอร์วิสเซส จำกัด และบริษัทอุดมข้าวหอมไทย จำกัด ซึ่งบริษัททั้ง 2 ได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ และนางชม้อยฯ ได้นำผลประโยชน์ตอบแทนเหล่านั้นไปจัดสรรให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินตามสัดส่วนของเงินที่ให้กู้ยืมแต่ละราย
จากการตรวจสอบของกรมสรรพากร พบว่านางชม้อยมีบัญชีเงินฝาก 2 ประเภท คือประเภทออมทรัพย์และกระแสรายวัน โดยมีข้อตกลงกับธนาคารว่าให้โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เข้ามาบัญชีกระแสรายวันได้เมื่อมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปจากบัญชีกระแสรายวัน และจากการตรวจสอบหลักฐานการฝากถอนเงินในบัญชีเงินฝากของนางชม้อยฯ กับพวกเห็นว่า นางชม้อยฯ กับพวก จ่ายดอกเบี้ยให้ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากมีผู้ร่วมลงทุนเพิ่มมากขึ้นซึ่งแท้จริงแล้วนางชม้อยฯ กับพวกไม่ได้ทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและไม่ได้ประกอบกิจการค้าอื่นใดที่จะได้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ให้กู้ได้สูงถึงร้อยละ 6.5 ต่อเดือน แต่นางชม้อยฯ กับพวกได้นำเงินที่กู้ยืมจากประชาชนและผู้เสียหายไปใช้ประโยชน์ส่วนตน โดยนำไปซื้อทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากและได้ปกปิดอำพรางซุกซ่อนไว้ และในที่สุดได้ร่วมกันเอาเงินและทรัพย์สินดังกล่าวหลบหนีไป
วิธีการในการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ประชาชน ในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ใช้วิธีการจัดคิวเงินโดยการนำเงินไปฝากธนาคารไว้แล้วเอาเงินต้นและดอกเบี้ยมาทยอยหมุนเวียนจ่ายเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ถ้ามีผู้นำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพียงร้อยละ 5-6 เท่านั้น ก็จะสามารถหมุนเวียนจ่ายเป็นดอกเบี้ยได้ตลอดไปแต่ถ้าไม่มีผู้นำเงินมาลงทุนเพิ่มก็จะจ่ายดอกเบี้ยได้ในระยะแรกเท่านั้นในที่สุดเงินต้นที่สะสมไว้จะหมดและไม่สามารถคืนเงินต้นให้ประชาชนได้ในที่สุด
การดำเนินกิจการของนางชม้อยได้ดำเนินไป มีประชาชนนิยมไปเล่นแชร์น้ำมัน กับนางชม้อยทั่วประเทศ จำนวนหลายหมื่นคน และวงเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท รัฐบาลในขณะนั้นได้ติดตามสืบสวนการกระทำของนางชม้อย ทิพย์โส ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินไปลงทุนค้าน้ำมันแต่อย่างใด แต่พบว่าเงินที่ได้จากลูกแชร์นั้น จะไปปรากฏในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของนางชม้อย ทิพย์โส จากนั้น เมื่อถึงกำหนดการจ่ายผลประโยชน์ในตอนสิ้นเดือน ก็จะมีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ ไปยังบัญชีกระแสรายวันเพื่อที่จะจ่ายเช็คผลประโยชน์ให้กับลูกแชร์ แสดงให้เห็นว่านางชม้อยได้ใช้วิธีนี้ในการนำเงินที่ได้จากลูกแชร์รายหลังๆ มาจ่ายผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยให้แก่ลูกแชร์รายก่อนๆ ซึ่งจะสามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีลูกแชร์เอาเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมเงิน
รัฐบาลเห็นว่า บทบัญญัติความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาอาจไม่สามารถเอาผิดกับนางชม้อยได้ โดยนางชม้อยอ้างว่าการระดมเงินหรือแชร์น้ำมันของนางชม้อยเพื่อไปค้าน้ำมัน และออกสัญญากู้ยืมให้ สัญญาดังกล่าวได้ตกลงจะจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตรา ร้อยละ 6.5 ต่อเดือน และเมื่อไม่มีการผิดสัญญากับใครก็ไม่สามารถเอาผิดกับนางชม้อยได้ หรือหากมีการผิดสัญญาก็อาจต้องรับผิดทางแพ่งเท่านั้น รัฐบาลเห็นว่าการระดมเงินดังกล่าว เป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชนที่จะต้องสูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้ประกาศและมีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527
ซึ่งนางชม้อยยังบังอาจฝ่าฝืนกฎหมายโดยยังรับกู้ยืมเงินจากประชาชนตามปกติ โดยอ้างกับประชาชนและผู้เสียหายว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายและมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่ ทำให้ประชาชนและผู้เสียหายหลงเชื่อร่วมลงทุนค้าน้ำมันต่อไป และประชาชนนำเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมมากขึ้นเป็นลำดับ จนนางชม้อยแต่ผู้เดียวไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงได้ให้พวกอีก 9 คน ช่วยเหลือ โดยการเปิดบัญชีในนาม พวกทั้ง 9 คน ไว้ตามธนาคารต่างๆ เพื่อดำเนินการธุรกิจดังกล่าว โดยการทำสัญญาภายหลังที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ มีผลใช้บังคับนั้นจะทำสัญญากู้ยืมโดยลง พ.ศ. ในสัญญากู้ยืมย้อนหลังไปหนึ่งปีเพื่อให้เห็นว่าสัญญากู้ยืมได้ทำขึ้นก่อนที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ จะมีผลใช้บังคับ
ต่อมานางชม้อยกับพวกเริ่มมีการปฏิเสธการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2528 ถึงเดือนมีนาคม 2528 ซึ่งผู้เสียหายได้ขอถอนเงินคืน ซึ่งตามสัญญาระบุว่าจะถอนเงินคืนเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้านั้น แต่ได้รับแจ้งจากนางชม้อยว่าของดการจ่ายเงินคืนชั่วคราว และนางชม้อยได้หลบหนีกลับไปที่จังหวัดสิงห์บุรี จนเดือนมิถุนายน 2528 นางชม้อยได้ปรากฏตัวอีกครั้งที่โรงยิมเนเซี่ยมทหารอากาศในกองทัพอากาศดอนเมืองและได้ชี้แจงให้ประชาชนและผู้เสียหายทราบว่าหยุดดำเนินการค้าน้ำมันแล้วและไม่ได้ลงทุนอะไร เงินผลประโยชน์นั้นจะไม่จ่ายให้แต่จะคืนเงินต้นบางส่วนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งในที่สุดนางชม้อยฯ กับพวกก็ไม่ได้คืนเงินต้นตามที่บอก
ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2528 ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามสามารถจับนางชม้อยฯ ได้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 และจับพวกของนางชม้อยฯ อีก 7 คน ต่อมาผู้บังคับการกองปราบปรามได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นประมาณ 100 คน เพื่อทำการสอบสวนผู้เสียหายจำนวน 16,231 คน ซึ่งได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้
การทำสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้นได้แยกทำเป็น 2 บัญชี กล่าวคือ ผู้เสียหายที่ให้กู้ยืมเงินก่อนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ ประกาศใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2520 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527) เป็นผู้เสียหายจำนวน 13,248 คน รวมให้กู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 23,519 ครั้ง ทำสัญญากู้ยืมทั้งสิ้น 23,519 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,043,997,795 บาท และผู้เสียหายที่ให้กู้ยืมเงินภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ (ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528) มีผู้เสียหายจำนวน 2,983 คน รวมให้กู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 3,641 ครั้ง ทำสัญญากู้ยืมทั้งสิ้น 3,641 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 510,584,645 บาท
คดีนางชม้อยได้ใช้เวลาสืบพยานในศาลเป็นเวลาประมาณ 4 ปี จนศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อ 27 กรกฎาคม 2532 ศาลอาญาจึงได้พิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก 83 รวม 23,519 กระทง ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 รวม 3,641 กระทง เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยจำคุกจำเลยทั้งแปด ฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก กระทงละ 5 ปี รวม 23,519 กระทง จำคุกคนละ 117,595 ปี ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกูยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12 กระทงละ 10 ปี รวม 3,641 กระทง จำคุกคนละ 36,410 ปี รวมจำคุกคนละ 154,005 ปี
เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ที่แก้ไขแล้ว และให้จำเลยทั้งแปดคนร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 4,043,997,795 บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ ร่วมกันคืนเงินกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 2 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จคดี ดังกล่าวได้ถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์ ซึ่งเมื่อมีคำพิพากษาแล้วทรัพย์สินของนางชม้อยฯ กับพวกได้ถูกเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายในคดี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี เพราะประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี และให้นางชม้อย กับพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536
ต่อมาผมขออนุญาตพูดถึงบิดาแชร์ลูกโซ่ ภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อของคนนี้อธิบายถึงกลโกงแชร์ลูกโซ่ ซึ่งรู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า “Ponzi scheme” เข้าลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือธุรกิจ “แชร์ลูกโซ่” นั่นเอง เริ่มปี พ.ศ. 2463 และคนที่ทำให้การฉ้อโกงลักษณะนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และชื่อของเขาก็กลายมาเป็นชื่อของลักษณะการกระทำนี้ไปด้วยก็คือ “ชาร์ลส์ ปอนซี” (Charles Ponzi)
โดยรูปแบบของการฉ้อโกงลักษณะนี้ก็ไม่ต่างกับการลงทุนแบบพีระมิด (pyramid scheme) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะมันเป็นการเอาเงินนักลงทุนที่ถูกหลอกที่หลังมาให้รายแรกที่ต่างก็คือ การลงทุนแบบพีระมิดจะใช้ระบบสมาชิกแบบเครือข่าย ที่สมาชิกแต่ละรายจะต้องออกตามหาสมาชิกสืบเนื่องเพื่อเป็นลูกข่ายของตัวเอง แต่ Ponzi scheme จะไม่มีการทำแบบนั้น ผู้บงการจะเป็นผู้ระดมทุนโดยตรงแล้วให้คนลงทุนนั่งรอผลกำไรอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็อาจจะได้กำไรงวดแรกๆ ก่อนที่นายแชร์จะหายตัวไปเมื่อการหาผู้ลงทุนหน้าใหม่เริ่มถึงทางตัน
นักประวัติศาสตร์พบว่า การฉ้อโกงลักษณะนี้มีกันมาอย่างน้อยตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 แล้ว แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายและตกเป็นข่าวมากเท่ากรณีของ ชาร์ลส์ ปอนซี
ชาร์ลส์ (หรือ คาร์โล ในภาษาอิตาเลียน) ปอนซี เป็นชาวเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อปี 2426 ย้ายมาตั้งรกรากในสหรัฐฯ ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ เริ่มต้นทำมาหากินอย่างสุจริตด้วยการเร่ขายผลไม้ ไปเป็นเด็กล้างจาน เป็นบ๋อย ก่อนหันเหชีวิตเข้าสู่ด้านมืด
จากข้อมูลของ The New York Times ธุรกิจกำมะลอของปอนซีเริ่มต้นที่บอสตัน แมสซาชูเซตส์ เมื่อปี 2463 เมื่อเขาออกเชื้อเชิญนักลงทุนให้มาลงทุนกับ Securities Exchange Company ของเขาโดยอ้างว่า ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินต้นภายใน 45 วัน หรือเพียง 3 เดือน ผู้ลงทุนก็จะได้เงินกำไรเท่ากับจำนวนเงินต้น และเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 6 เดือนเท่านั้น
พูดแค่นี้คงทำให้คนโลภหูผึ่งแล้ว แต่อาจยังไม่ทำให้คนที่ยังพอมีสติหลงเชื่อได้ เขาเลยต้องหาข้ออธิบายว่า เงินที่ได้มาเขาจะเอาไปลงทุนทำอะไร ถึงได้กำไรมากมายมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้สูงถึงขนาดนั้น?
สิ่งที่ปอนซีอ้างกับผู้ร่วมลงทุนก็คือ เขาจะเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อ “วิมัยบัตร” (international postal reply coupon) หรือคูปองที่สามารถเอาไปแลกแสตมป์ไปรษณีได้เท่ากับจำนวนที่ต้องใช้สำหรับการส่งจดหมายน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) โดยจะไปเลือกซื้อวิมัยบัตรจากประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินถูกๆ แล้วเอามาขายต่อในประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการหากำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน
ในช่วงเดือนแรก ปอนซีสามารถหาลูกค้าได้ 15 ราย ระดมทุนได้มา 870 ดอลลาร์ แต่เพียง 6 เดือนต่อมาเขาสามารถหาลูกค้าได้มากถึง 20,000 ราย ทำให้เขาได้เงินไปกว่า 10,000,000 ดอลลาร์ โดยในช่วงพีกๆ เขาต้องจ้างเสมียนถึง 16 คนมานั่งนับเงินที่เข้ามาวันละกว่า 250,000 ดอลลาร์ ด้วยเงินที่ได้มามากเกินความคาดหมายจนหาที่เก็บไม่ได้ ทำให้บางครั้งเขาต้องเอายัดใส่ถังขยะไปพลางๆ ก่อน โดยเขาเอาเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินจำนวนมาก และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่ง รวมถึงบริษัทที่เคยจ้างเขาเป็นเด็กเดินเอกสารมาก่อน “ภาพความสำเร็จ” ของเขาทำให้ชาวบ้านพากันยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษ
อย่างไรก็ดี แชร์ลูกโซ่ของปอนซีก็มีอายุได้เพียงราว 9 เดือนเท่านั้น เมื่อทางไปรษณีย์บอสตันออกมาเผยว่า ปอนซีไม่เคยมาลงทุนซื้อแสตมป์อะไรเลย แต่กว่าที่ชาวบ้านจะรู้ว่าตัวเองถูกหลอก เงินของพวกเขาก็ถูกเล่นแร่แปรธาตุหายวับไปหมดแล้ว
ปอนซีถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างที่อยู่ในคุกเขายังอุตส่าห์ส่งบัตร ส.ค.ส. คริสต์มาสไปยังเจ้าหนี้ว่าเขาจะหาเงินมาคืนให้หมดทันทีที่ถูกปล่อยตัว
เขาติดคุกอยู่ได้สามปีคุกก็ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด แต่ก็ไปถูกจับในข้อหาลักทรัพย์อีกรอบระหว่างที่รอการอุทธรณ์ เขาเดินทางไปยังฟลอริดาพยายามหลอกขายที่ดินชาวบ้าน ทางการฟลอริดาสอบสวนพบว่าเขากระทำความผิดฐานฉ้อโกงอีก ปอนซีก็เลยหนีไปเท็กซัสแต่ไม่รอดถูกจับตัวส่งกลับแมสซาชูเซตส์
ในฉากสุดท้ายของปอนซี เขาต้องติดคุกจนถึงปี พ.ศ.2477 ก่อนถูกเนรเทศกลับอิตาลีเพราะไม่ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น ปอนซีเดินทางไปยังบราซิลใช้ชีวิตอย่างสมถะ ทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2492
วันนี้ผมเอาความรู้เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่มาฝากกัน ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้องเข้าใจแชร์ลูกโซ่ และ ต้องยอมรับและเรียนรู้ว่ากิจกรรมประเภทนี้เป็นอาชญากรรมที่ทำลายชาติอย่างร้ายแรง ทำลายครอบครัว ทำลายสังคม ทำลายสัมพันธภาพอย่างแท้จริง มีกิจกรรมนี้กิจกรรมเดียวที่จะทำให้คนรวยกลายเป็นคนจนเพียงในวันเดียว !!!!
เรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แชร์ลูกโซ่เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560
คนไทยควรหยิบยกวันนี้เป็นวันปลอดแชร์ลูกโซ่แล้วหรือยัง เพราะมีคนตายไปแล้วหลายคน มีคนหมดตัวล้มละลายแล้ว หลายแสนคน มีคนอยู่ในวงจรแชร์ลูกโซ่มากแค่ไหน ลองถามคนใกล้ตัวว่ารู้จักแชร์ลูกโซ่มั้ย ถามไม่เกิน3 คนท่านจะพบ ดังนั้นแชร์ลูกโซ่อยู่ใกล้ตัวคุณ??
จากแชร์แม่ชะม้อย ผัน เป็นแชร์แม่มณี สังคมต้องเรียนรู้