ข่าว

กูรูเกาหลีตำหนิรัฐบาลเลือกจาการ์ตาแทนกรุงเทพตั้งศูนย์การเงิน

กูรูเกาหลีตำหนิรัฐบาลเลือกจาการ์ตาแทนกรุงเทพตั้งศูนย์การเงิน

14 พ.ย. 2562

มีเสียงวิจารณ์ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญหลังรัฐบาลโซล ตัดสินใจที่จะเปิดศูนย์ความร่วมมือทางการเงินเกาหลี-อาเซียน ในกรุงจาการ์ตา



โคเรีย ไทมส์ รายงานโดยอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญการเงินและภาคบริษัท ที่มองว่าการที่รัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจ อิน มีแผนเปิดศูนย์ความร่วมมือทางการเงินเกาหลี-อาเซียน ( Korea-ASEAN Financial Cooperation Center )  ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แทนเลือกกรุงเทพ  จะไม่ช่วยให้ศูนย์ใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาบรรลุวัตถุประสงค์เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่บริษัทเกาหลีใต้ในอาเซียน 

 


ผู้เชี่ยวชาญบางคน มองถึงขั้นว่า เป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อใช้อวดความสำเร็จของรัฐบาลในประเทศที่เอื้อต่อบริษัทเกาหลีอยู่แล้ว แทนที่จะฝ่าฟันอุปสรรคความยุ่งยากในตลาดที่ยังมีความท้าทาย อย่างประเทศไทย 

 


เรื่องนี้จะเป็นวาระการหารือในการประชุมสุดยอดเกาหลี-อาเซียน ในเมืองปูซาน ทางใต้ของเกาหลีใต้  25 พ.ย.นี้ 


เดิม กรุงเทพ  ถูกระบุว่าเป็นแคนดิเคตอันดับแรก ที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ ซึ่งมีกำหนดก่อตั้งปี 2020  แต่ ไฟแนนเชียล นิวส์ หนังสือพิมพ์ในเกาหลีใต้ รายงานอ้าง จู ฮยอง –ชอล ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประธานาธิบดี และประธานคณะกรรมการประธานาธิบดีว่าด้วยนโยบายใต้ใหม่  ( New Southern Policy ) ที่กล่าวเมื่อ 29 ต.ค.ว่า จาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย จะเป็นที่ตั้งศูนย์ เนื่องจากสถานะความเป็นประเทศแถวหน้าของอาเซียน และ Mission of the Republic of Korea to ASEAN สำนักงานส่งเสริมความสัมพันธ์เกาหลีใต้-อาเซียน  ก็ตั้งอยู่ในจาการ์ตา  

 


สถาบันการเงินเกาหลี (เคไอเอฟ ) ซึ่งเชี่ยวชาญวิจัยด้านการเงิน และได้ทำการสำรวจสถานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตั้งศูนย์ความร่วมมือการเงินเกาหลี-อาเซียน นับตั้งแต่ธันวาคม 2561 ตามคำร้องขอของรัฐบาล ไม่เห็นด้วย 

 

“เป้าประสงค์แรกเริ่มของการเปิดศูนย์ คือเพื่อช่วยบริษัทการเงินเกาหลี  ให้ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลต่างประเทศ ดังนั้น เราจึงแนะนำรัฐบาลให้เปิดศูนย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศยากที่สุดที่จะได้ใบอนุญาตด้านการธนาคาร” ซู บยอง โฮ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเงินอาเซียนของ เคไอเอฟ กล่าว

 

กูรูเกาหลีตำหนิรัฐบาลเลือกจาการ์ตาแทนกรุงเทพตั้งศูนย์การเงิน

Korea Herald 

 

แต่เพราะข้าราชการเกาหลีไม่มั่นใจว่า จะโน้มน้าวอีกฝ่ายให้ออกใบอนุญาตแก่บริษัทเกาหลีใต้ได้  รัฐบาลจึงหันไปเลือกประเทศที่อำนวยความสะดวก แทนการบุกเบิกตลาดประเทศที่ไม่เอื้อเท่า  ซึ่งเขาเกรงว่า ศูนย์ฯที่จะตั้งขึ้นอาจไม่สามารถทำอะไรมากไปกว่าการไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนจากบริษัทเกาหลี ที่สามารถดูแลตัวเองในตลาดอินโดนีเซียได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ บทบาทของศูนย์ฯยังอาจคลายความสำคัญลง  เพราะการอยู่ภายใต้ สำนักงานส่งเสริมความสัมพันธ์เกาหลีใต้-อาเซียน 

 

นักวิจัยเกาหลี ยังมองว่า บริษัทการเงินเกาหลีกำลังสูญเสียโอกาสทองในการกลับเข้ามาในตลาดการเงินของไทยอีกครั้ง 
บริษัทการเงินเกาหลีใต้ พากันถอนตัวจากไทย ในช่วงวิกฤติการเงินปี 2540  และนับจากนั้นมา ประเทศไทยได้สร้างกำแพงกั้นบริษัทการเงินต่างชาติสูงขึ้นอีก  คงเหลือบริษัทการเงินกาหลี 3 แห่งเท่านั้นที่ยังอยู่  ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเกาหลี   บริษัทในเครือซัมซุง ไลฟ์ อินชัวแรนซ์ และ เคทีบี อินเวสต์เมนต์ แอนด์ เซ็คเคียวริตี 

 


ตรงข้ามกับญี่ปุ่น ที่ยังเดินหน้าลงทุนและทำธุรกิจในไทย  สามธนาคารยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ยังครองตลาด ได้แก่ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ  มิตซุย ซูมิโตโม และ มิซูโฮ 

 


ขณะที่รัฐบาลไทยเอง เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งออกใบอนุญาตให้บริษัทการเงินต่างชาติหลายแห่ง ขณะเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด และพยายามลดการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่น  

 


หลังปี 2020 คาดว่าไทยจะอนุญาตบริษัทการเงินต่างชาติเพิ่มอีก 

 


คิม แท ยัง ประธานสหพันธ์ธนาคารเกาหลี เพิ่งลงนามบันทึกความเข้าใจกับ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เมื่อตอนติดตามประธานาธิบดีมุน แจ อิน มาเยือนไทยเมื่อกันยายน  และในเดือนนี้  เอฟเอสเอส หน่วยงานควบคุมการเงินเกาหลีใต้ ยังได้เชิญคณะผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ที่รับผิดชอบออกใบอนุญาตไปเยือน  เพื่อกระชับความสัมพันธ์ภาคการเงินสองประเทศ แต่ทัศนคติของรัฐบาลต่ออุตสาหกรรมการเงิน อาจเป็นอุปสรรคกับความพยายามต่างๆที่กล่าวมา 

 

 

ธนาคารเกาหลีร้องเรียนว่าการเข้าตลาดการเงินของไทย ในทางปฏิบัติแทบเป็นไปไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ และผ่านช่องทางการทูต “ประเทศไทยมีกำแพงสูงกับบริษัทการเงินต่างชาติ ดังนั้น การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเข้าไปในตลาดแบบปัจเจก จึงเสี่ยงเกินไป” เจ้าหน้าที่ธนาคารรายหนึ่งกล่าว 

 


นักวิจัยเคไอเอฟ กล่าวทิ้งท้ายว่า “พวกเราเรียกร้องรัฐบาลให้บุกเบิกตลาดใหม่ และแข่งกับญี่ปุ่น  แต่รัฐบาลเลือกทางสบาย เพราะกลัวการแข่งขัน”