
"อมตะซิตี้ชลบุรี" ยันกว่า 700 โรงงาน ยังไม่ปิดกิจการ
กรรมการผู้จัดการ บ. อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส ยัน 700 โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ชลบุรี ยังไม่มีปิดกิจการหรือหยุดงานชั่วคราว พร้อมติดตามสถานการณ์ปิดกิจการอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยที่มีปัญหา ทำให้โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ แต่ยืนยันว่าโรงงานทั้ง 700 กว่าโรงงานในนิคมอมตะซิตี้ชลบุรี ยังคงเปิดกิจการอยู่ทุกสถานประกอบการ และไม่มีการหยุดงานชั่วคราว ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์ของลูกค้าที่อยู่ในนิคมอมตะซิตี้ชลบุรี อย่างใกล้ชิด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เปราะบางมากที่สุดในช่วงนี้คือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ถึง 2 ล้าน แต่ปีนี้และปีหน้าจะมียอดขายไม่ถึง 2 ล้านคัน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีซัพพลายเชนที่เยอะมาก (อ่านข่าว ดูแล้วน้ำตาซึม ภาพกองบัตรพนง.หลังบริษัทปิดกิจการทำตกงานอื้อ)
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของอมตะฯมีนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ 2 แห่ง คือ ที่จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดระยอง ในขณะเดียวกันก็ได้ขยายนิคมอุตสาหกรรมไปในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และเวียดนาม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีแผนจะขยายต่อเฟสที่ 2 เป็นนิคม 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่จะมีลักษณะเป็น Smart City การขายแรงงานไม่ใช่เป้าหมายหลัก เนื่องจากค่าแรงสูง จึงต้องเน้นการตั้งนิคมสำหรับแรงงานทักษะสูง เพื่อคิดค้นสิ่งใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่า (อ่านข่าว สะเทือนขวัญตกงานกว่า 400 ชีวิตบริษัทในมาบตาพุดปิดกิจการ)
ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีสถานประกอบการไหนที่ปิดกิจการ ส่วนที่ปิดกิจการตามที่เป็นข่าวนั้นเป็นโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมที่มีการขายกิจการหรือหยุดชั่วคราว โดยหวังว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นและมียอดสั่งซื้อจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง ซึ่งไม่มีใครทำนายได้ว่าจะเป็นเมื่อใด สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังรับผลกระทบหนักในขณะนี้คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งมียอดขายลดลง 7% ส่วนสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเป็นกันทั้งโลก ไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามทางออกในระยะยาวสำหรับเรื่องนี้คือการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่