เช็กสต็อกบริษัทนำเข้าสารเคมีดูปริมาณจริงคงเหลือ
มนัญญา จ่อเรียกเอกชนนำเข้าสารเคมีตรวจสต็อกสารทั่วประเทศ ดูปริมาณคงเหลือที่แท้จริง พร้อมช่วยเกษตรกรรองรับให้ทัน 1 ธันวาคมนี้
16 พฤศจิกายน 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่สหกรณ์เครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดตราด เพื่อติดตามการดำเนินการผลิตน้ำยางข้น
พร้อมทั้งมอบแนวทางรองรับหลังการแบนสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส ให้เกษตรกรผู้ปลูกยาง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคมนี้
นางสาวมนัญญา กล่าวว่าจังหวัดตราด เป็นจังหวัดที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ที่มีการใช้สารกำจัดวัชพืชมากจังหวัดหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรปลูกพืชสวนและพืชไร่ทำให้มีการใช้ค่อนข้างมาก จึงต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนเลิกการใช้สาร 3 ชนิด
ขณะนี้ได้เร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมมาตรการรองรับแล้วในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รวบรวมความต้องการจากสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อจัดหาเครื่องจักรกล เครื่องตัดหญ้าไว้แล้ว เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์นำไปหมุนเวียนในการใช้งาน
โดยกระทรวงเกษตรฯจะสรุปมาตรการทั้งหมดในวันที่ 22 พ.ย.นี้ และในวันเดียวกันสั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกประชุมสารวัตรเกษตร 300 คนทั่วประเทศมารับทราบแนวปฎิบัติต่อการแบนสาร ทั้งการตรวจสอบติดตามสต็อก การชี้แจงทำความเข้าใจในการแบนสาร 3 ชนิด นอกจากนี้ จะเรียกประชุมผู้นำเข้าส่งออกสารเคมีทั้งหมดถึงแนวทางจัดการกับสต็อกสารเคมีที่เหลือด้วย
ส่วนค่าดำเนินการในการทำลายสาร ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายมาตรา 52 ให้ผู้ครอบครองสารเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการในการทำลายสาร ซึ่งรวมไปถึง ค่าขนส่ง ค่าทำลาย ค่าเก็บสต็อกสาร ส่วนเกษตรกรที่ได้รับกระทบกรณีที่มีครอบครอง จะมีการหารือเพื่อช่วยเหลือต่อไป
สำหรับมาตรการรองรับการแบนสาร เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่าไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นหน่วยงานในสังกัด ทำให้การทำงานค่อนข้างยากทั้งที่เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า จึงเป็นเหตุที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจ พี่ชายได้โพสต์ถึงหน่วยงานดังกล่าวด้วยความไม่พอใจ
นายสว่าง ชื่นอารมณ์ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดตราดระบุว่า ยอมรับว่าเกษตรกรในพื้นที่มีการใช้สารดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่เมื่อรัฐมีนโยบายการแบน 3 สาร ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนโดยขอให้สนับสนุนเครื่องมือในการกำจัดวัชพืช รวมทั้งสารทดแทนชนิดอื่นๆ และดูแลราคาน้ำมันที่นำมาใช้ในภาคการเกษตรในราคาพิเศษ
ขณะนี้ชาวสวนยางบางส่วนในพื้นที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการแบนสารเคมี 3 สาร โดยเฉพาะเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่มากมีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการกำจัดวัชพืช ส่วนสารกำจัดวัชพืชที่ห้ามใช้ สหกรณ์ได้จำหน่ายให้กับสมาชิกไปหมดแล้ว สำหรับจังหวัดตราด มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 5 แสนไร่ ผลผลิต 5 หมื่นตันต่อปี