ชาวบ้านช้ำ หลังถูกสวมชื่อสร้างฟาร์มหมู วอนให้ทำประชาคมใหม่
ชาวบ้านช้ำ หลังถูกสวมชื่อสร้างฟาร์มหมู วอนให้ทำประชาคมใหม่
จากกรณีที่ นายณรงค์ ตามพหัส และชาวบ้านดงสวนหมาก ม.6 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เข้าร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหนองมะโมง และเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.หนองมะโมง
เพื่อให้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย กับบุคคลที่นำรายชื่อและปลอมลายมือชื่อของพวกตน ไปสวมสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นการก่อสร้างฟาร์มสุกรในหมู่บ้านดงสวนหมาก
จนเป็นผลทำให้บริษัทเอกชนที่ขอสร้างฟาร์มสุกร ได้รับอนุญาตและเข้าไปดำเนินการก่อสร้างฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ 127 ไร่ ภายในหมู่บ้านแล้ว สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่คัดค้านเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักภายในหมู่บ้าน
ล่าสุด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหนองมะโมง นำโดย นายไทยทัศน์ มีสวัสดิ์ ปลัดอำเภอหนองมะโมง ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและฟังคำชี้แจง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยมี นายชูชีพ สุพบุตร นายกเทศมนตรีตำบลหนองมะโมง , ผู้นำท้องถิ่น , ผู้นำชุมชน ตัวแทนบริษัทเอกชนที่ขอสร้างฟาร์มสุกร , หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้าน จำนวน 115 คน เข้าร่วมประชุม โดยมีนายจุมพฎ เจตน์จันทร์ คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดชัยนาท และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองมะโมง จำนวน 3 นาย มาคอยเฝ้าสังเกตการณ์
โดยในการประชุม ช่วงแรกได้มีการพูดคุยกันถึงเหตุผลและขั้นตอนของการอนุญาตให้บริษัทเอกชน เข้ามาสร้างฟาร์มสุกรในพื้นที่หมู่บ้าน และให้ตัวแทนฟาร์ม ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างฟาร์ม รวมทั้งประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ เมื่อมีการทำฟาร์มเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจ้างแรงงาน
จากนั้นได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการจัดทำเอกสารประชาคมเท็จ ที่มีการสวมสิทธิ์และปลอมลายมือชื่อของชาวบ้านหลายคน จนได้มติเห็นชอบอนุญาตให้สร้างฟาร์มสุกร ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านมาตลอด ซึ่งเมื่อพูดคุยถึงเรื่องนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด มีการขอให้ นายปัญญา ใจสิงห์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน
ที่เป็นคนลงนามในเอกสารประชาคม ชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่นายปัญญา ไม่ยอมชี้แจงถึงการจัดทำเอกสาร แต่กลับพูดถึงความดีและความเสียสละในการทำงานของนายกเทศมนตรีที่มีต่อคนในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจ เพราะพูดไม่ตรงประเด็น บรรยากาศการประชุมจึงตึงเครียดมากขึ้น
จนมีชาวบ้าน 2 ราย ออกมาแฉ เรื่องที่มีผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่ง ได้นำเงิน 1,000 บาท ไปตระเวนมอบให้กับชาวบ้านหลายรายในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการนัดประชุมในครั้งนี้ ซึ่งชาวบ้าน 2 รายดังกล่าว ก็ได้นำเงินที่ได้รับจากผู้นำท้องถิ่น
ออกมาคืนให้ในที่ประชุม แต่ผู้นำท้องถิ่นที่ถูกกล่าวอ้างว่าแจกเงิน กล่าวปฏิเสธ บอกว่าตนเป็นคนใจดี ชอบช่วยเหลือดูแลชาวบ้านที่เดือดร้อน และต้องการให้ชาวบ้านมาเข้าร่วมประชุมเท่านั้น ทำให้บรรยากาศการประชุมร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
การประชุมยังคงเป็นไปอย่างยืดเยื้อ นานกว่า 1 ชั่วโมง จนกระทั่งมีการเสนอให้มีการจัดทำประชาคมใหม่ เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนเอกสารประชาคมเก่า ที่ถูกระบุว่ามีการสอดไส้ปลอมลายมือชื่อของชาวบ้าน ก็ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์ความจริง เนื่องจากได้มีการแจ้งความไว้แล้ว ที่ประชุมจึงมีมติให้ชาวบ้าน ม.6 จัดทำประชาคมใหม่ ในวันที่ 20 พ.ย. 2562 เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ให้มีการจัดสร้างฟาร์มสุกรในหมู่บ้าน รวมทั้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียง จัดทำประชาคมภายในหมู่บ้านของตนเองด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังปิดประชุม นายชูชีพ สุพบุตร นายกเทศมนตรีตำบลหนองมะโมง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จะยึดเอาเสียงส่วนใหญ่ของชาวบ้านเป็นหลัก หากที่สุดแล้วชาวบ้านไม่ต้องการ ก็จะยกเลิกการอนุญาตให้สร้างฟาร์มสุกร ส่วนตัวแทนฟาร์มสุกร เปิดเผยว่าโครงการสร้างฟาร์มดังกล่าวใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องและบริสุทธิ์ใจ ที่ต้องการเข้าไปพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์ และจ้างแรงงานให้ชาวบ้านมีงานทำ แต่หากชาวบ้านไม่ต้องการจริงๆ ก็จะพับเก็บโครงการนี้ไป และระหว่างที่รอให้มีการทำประชาคมใหม่ ก็ได้สั่งยุติการก่อสร้างฟาร์มไว้ชั่วคราวก่อน
ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการก่อสร้างฟาร์มสุกร เปิดเผยว่า ที่ไม่ต้องการให้มีการสร้างฟาร์มสุกรในพื้นที่ เนื่องจากกลัวจะเกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศตามมาภายหลัง เพราะจุดที่จะสร้างฟาร์ม แม้จะอยู่ห่างจากบ้านเรือน แต่หากเกิดกลิ่นเหม็น ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี
อีกทั้งบริเวณดังกล่าว ยังตั้งอยู่ใกล้กับคลองสาธารณะและแหล่งเก็บน้ำสาธารณะที่ชาวบ้านต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวเพื่อการอุปโภคบริโภค หากเกิดการรั่วไหลของน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ ไม่เพียงชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับความเดือนร้อน แต่ชาวบ้านทั้งตำบลหนองมะโมง ที่ต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำนี้ จะเดือดร้อนไปด้วยทั้งหมด
จึงคิดว่าชาวบ้านได้ไม่คุ้มเสีย จึงคัดค้านอย่างเต็มที่ ที่จะไม่ให้มีการก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากการทำประชาคมครั้งใหม่ มติเสียงข้างมากยินยอมให้ก่อสร้างฟาร์ม กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านก็ยอมรับในมติของที่ประชุม แต่เรื่องที่ชาวบ้านถูกสวมสิทธิ์และถูกปลอมลายมือชื่อในเอกสารประชุมประชาคมครั้งเก่า จะไม่ยอมยุติ ยังคงให้ตำรวจสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อหาตัวคนทำมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข่าว/ภาพ ชฎารัฐ จันทร์พาหิรกิจ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชัยนาท