ภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำชีแห้งขอดเป็นช่วงๆ
ชาวยโสธรเริ่มเดือดร้อนหนัก หลังประสบปัญหาภัยแล้งหนัก พบปริมาณน้ำชีเริ่มแห้งขอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดยโสธรต้องประสบภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม และภัยแล้งในปีเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมหนัก พอเวลาผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน ต้องกลับมาเจอกับสถานการณ์ภัยแล้งอีกรอบ
และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุดได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีที่เป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านจังหวัดยโสธร ปริมาณน้ำเริ่มแห้งขอดเป็นช่วงๆโดยเฉพาะที่บริเวณด้านหลังวัดบ้านคุยตับเต่า ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
จากเดิมที่เคยมีปริมาณน้ำเต็มฝั่งแต่ขณะนี้ปริมาณน้ำแห้งขอด ลงอย่างรวดเร็วจนเหลือแต่พื้นทรายเป็นบริเวณกว้างจนมองเห็นพื้นทรายทอดยาวตามแม่น้ำชีกว่า 1 กิโลเมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี
และเคยใช้เรือพายของตัวเองในการสัญจรไปมาเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำชีรวมทั้งนำเรือออกหาจับปลาในแม่น้ำชีไปขายต้องปล่อยให้เรือของตัวเองจอดเกยตื้นอยู่ริมตลิ่งเพราะไม่สามารถที่จะออกเรือจับปลาได้เหมือนเช่นเคย
ขณะที่เกษตรกรที่ทำนาปรังในพื้นที่ก็หวั่นเกรงว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำชีอาจจะไม่เพียงพอในการทำนาปรังในปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำบริเวณที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำส่งให้เกษตรกรได้ทำนาปรังในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ ที่อยู่ด้านหลังวัดบ้านคุยตับเต่า ก็เหลือระดับน้ำสูงไม่ถึง 2 เมตร เท่านั้น
นางสุพรรณ ชาภักดี อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ 5 บ้านคุยตับเต่า ตำบลขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร บอกว่า เนื่องจากเขื่อนยโสธรที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปได้ทำการปิดประตูระบายน้ำเอาไว้เพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ให้เกษตรกรที่อยู่ทางเหนือ เขื่อนได้มีน้ำทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งรวมทั้งอุปโภคบริโภค
จึงทำให้ปริมาณน้ำชีบริเวณด้านหลังวัดคุยตับเต่า ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเขื่อนยโสธร แห้งขอดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือแต่พื้นทรายเป็นบริเวณกว้างจนบางจุดสามารถเดินข้ามาได้ ขณะนี้ชาวบ้านที่เคยออกเรือจับปลาไปขายก็ไม่สามารถที่จะออกเรือจับปลาได้ต้องนำเรือมาจอดเกยตื้นอยู่ริมตลิ่ง ปีนี้ต้องเจอทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง
พอน้ำท่วมก็มาเร็ว และแห้งเร็วจนไม่เหลือน้ำเอาไว้ให้ทำนาปรังได้เลย จึงอยากจะวอนให้ทางเขื่อนยโสธรได้ปล่อยน้ำลงมาให้ชาวบ้านที่อยู่ทางใต้เขื่อนได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอด้วย โดยเฉพาะการทำนาปรังเพราะนาปีถูกน้ำท่วมเสียหายหมด ชาวบ้านจึงต้องพากันหันไปทำนาปรังเพื่อทดแทนนาปีแต่ถ้าปริมาณน้ำเหลือแค่นี้ก็คงจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน
ภาพ/ข่าว สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดยโสธร รายงาน