เสียงฝ่ายค้านแพ้โหวตกลางสภาฯ
เสียงฝ่ายค้านแพ้โหวตกลางสภาฯ วาระเลื่อนระเบียบ - อนุมัติ พ.ร.ก. ชะลอใช้ ก.ม. ครอบครัว
รัฐสภา 20 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ว่า
มีประเด็นพิจารณา ซึ่ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย (พท.) ต้องการให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม โดยให้เลื่อนญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาพิจารณา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอให้เลื่อนดังกล่าว
ขณะที่ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอตั้งญัตติแข่งกับ ส.ส. พรรคเพื่อไทย โดยให้เลื่อนญัตติ ที่เสนอให้ศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. มาตรา 44 ทำให้ต้องลงมติเพื่อตัดสิน โดยผลการลงมติดังกล่าว ปรากฏว่า เสียงข้างมาก 240 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนญัตติตามที่กำหนดไว้ในระเบียบวาระ ขณะที่ 228 เสียงเห็นด้วยกับการเลื่อนตามข้อเสนอของ นพ.ชลน่าน
อ่านข่าว - สภาโหวต พรก. แก้ไข พ.ร.บ.สถาบันครอบครัว
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณาตามวาระ คือ การอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ส.ส. พรรคฝ่ายค้านอภิปรายคัดค้านการอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงมีข้อเสนอให้ถอน พ.ร.ก.ดังกล่าวและให้ยกเลิก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 อาทิ นพ.ชลน่าน อภิปรายว่า ตนไม่สามารถยอมรับกับเรื่องดังกล่าวได้ เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนเหมือนกับไฟไหม้ หรือน้ำท่วม เพราะความรุนแรงในครอบครัวสามารถบริหารจัดการได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถานบันครอบครัว นั้นเป็น 1 ใน 200 ฉบับ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและผ่านเป็นกฎหมายโดยองค์ประชุมไม่ครบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนไม่สามารถอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวได้
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า แม้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 แต่คำวินิจฉัยดังกล่าว ไม่ผูกมัดต่อการใช้ดุลยพินิจของสภาฯ ว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ดังนั้น สภาฯ จึงมีดุลยพินิจพิจารณาได้
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงถึงการเลื่อนใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยออกเป็น พ.ร.ก. ว่า มีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. เพราะการเตรียมบุคลากรนั้นยังไม่มีความพร้อม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคำสัมภาษณ์ว่าพร้อมนั้น เป็นเฉพาะเรื่องโครงสร้างเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้นิติกร ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบหรือถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ หากการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรที่เชี่ยวชาญไม่ดีพอ ผลกระทบอาจเกิดกับประชาชนได้
อ่านข่าว - ประกาศสำนักนายกฯ อนุมัติ พรก. โอนอัตรากำลัง - งบทัพบก กองทัพไทย
“ก่อนที่ผมจะส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในศูนย์ที่ต้องทำงาน ทั้ง 7,313 แห่งนั้น มีความพร้อมเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ สอบถามด้วยว่าหากใช้กฎหมายเก่าปี 2550 กับกฎหมายใหม่ ปี 2562 ยังมีความเห็นต่างว่าฉบับใดดีกว่ากัน พ.ร.บ.เก่าที่ใช้นั้น คนทำงาน 5 ขั้นตอนใช้เวลา 17 - 18 วัน ทำหนึ่งเรื่อง หากอนุมัติ และมีผลให้เลื่อนการบังคับใช้ กระทรวงจะปรับปรุง และเตรียมความพร้อมเรื่องอัตรากำลัง เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครอนุมัติให้จ้างนิติกร พร้อมกัน 7,313 แห่งแน่นอน ดังนั้น หากมีการเลื่อน จะปรับปรุงกฎหมาย เมื่อกระทรวงแก้ไขกฎหมายแล้วจะได้รับความสนับสนุนด้วยความเมตตา” นายจุติ ชี้แจง
ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติ เสียงข้างมากเห็นด้วยกับการอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว 244 เสียง ขณะที่มีเสียงไม่เห็นด้วย 73 เสียง งดออกเสียง 148 เสียง และ มี 1 เสียงไม่ลงคะแนน