ปลุก F-5 คืนชีพ ฝังมันสมองไทย
ปลุก F-5 คืนชีพ ฝังมันสมองไทย คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง โดย... พลซุ่มยิง
หากย้อนอดีตไปเมื่อปี 2470 กองทัพอากาศ (ทอ.) โดยกองโรงงานกรมอากาศยาน (กรมช่างอากาศ) ประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องบินรบที่สร้างด้วยฝีมือคนไทยครั้งแรก ‘เครื่องบินบริพัตร’ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ 2 (บ.ท.2) ที่ออกแบบโดย พ.ท.หลวงเวชยันต์รังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ) ผู้รั้งตำแหน่งผู้บังคับฝูงกองโรงงานกรมอากาศยาน
อ่านข่าว... ทอ. เปิดตัวเครื่องบิน F-5 TH อัพเกรด เทียบเท่ากริพเพน
‘เครื่องบินบริพัตร’ ใช้ชื่อตามพระนามของจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิด 2 ที่นั่ง ปีก 2 ชั้น โครงสร้างทำด้วยด้วยท่อภูราลูแมงและไม้ บุผ้า ใช้เครื่องยนต์จูปิเตอร์ขนาด 400-600 แรงม้า 1 เครื่อง ประจำการอยู่ที่กองบินน้อยที่ 2 (กองบิน 2 ลพบุรี) และเคยเดินทางไปเยือนต่างประเทศ 2 ครั้ง คือ อินเดีย และเวียดนาม ก่อนปลดประจำการในปี 2483
ปัจจุบันการพัฒนาขีดความสามารถของ ‘กองทัพอากาศ’ ให้สร้างเครื่องบินรบได้เอง แม้จะถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ปลายปี 2580 แต่ก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทั้งหมดเนื่องจากต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าเพราะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ในทางตรงกันข้ามหากเน้นให้ความสำคัญชิ้นส่วนที่เป็น ‘หัวใจ’ หลักของอาวุธยุทโธปกรณ์ ก็น่าจะเพียงพอต่อภารกิจป้องกันประเทศและการช่วยเหลือประชาชน
การอัพเกรดเครื่องบินขับไล่ F-5 ซึ่งเป็นเครื่องบินไอพ่นยุค 3.0 ของสหรัฐ ปัจจุบันเหลือประจำการเฉพาะ ‘ไทย’ เพียงประเทศเดียว ที่ ‘กองทัพอากาศ’ ได้คัดเลือกเครื่องสภาพดีที่สุดที่สามารถปรับปรุงและยืดอายุโครงสร้างอากาศยานจำนวน 14 เครื่อง หวังเพิ่มขีดความสามารถการรบให้สูงขึ้นเพื่อตอบสนองภัยคุกคามในอนาคต โดยอาศัยมันสมองและสองมือของคนไทยในชื่อ ‘เครื่องบินแบบ F-5TH’
‘กองทัพอากาศ’ ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการปรับปรุงโครงสร้างอากาศยาน และเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องบินแบบ F-5TH ให้เทียบเท่าเครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก หรือเครื่องบินแบบกริพเพน 39 C/D ในยุค 4.5 เพราะติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบ Avionics ที่ทันสมัย พร้อมระบบป้องกันตนเอง และระบบเรดาร์ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมาย
ตลอดจนถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้อาวุธสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำสูงและระยะยิงไกล อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operation) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link) เพื่อรองรับการใช้งานระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Link-T)
น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการรบ สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ ระบุว่า เราทำซอฟต์แวร์ของเราด้วยสมองของคนในกองทัพอากาศด้วยวิศวกรคนไทย จะมีการติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศแบบ IRIS-T ของเยอรมนี และเป็นครั้งแรกของโลกที่ F-5 ติดอาวุธนำวิถีแบบนี้ รวมถึง Python4 ของอิสราเอล นี่คือจิตวิญญาณ เราต้องการให้อาวุธนำวิถีทั้งสองชาติอยู่บน F-5 มีแต่ชาติไทยที่ทำได้ เราก็เอาจิตวิญญาณกริพเพนที่มีเน็ตเวิร์คเซ็นทริค มาพัฒนาให้เหมาะสมกับความต้องการทางยุทธวิธีของเรา
‘เครื่องบินแบบ F-5TH’ ถูกบรรจุเข้าประจำการใน ‘กองทัพอากาศ’ จำนวน 2 เครื่อง โดยผ่านการทดสอบจาก พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ที่ทำการบินด้วยตัวเอง จากฝูงบิน 211 กองบิน 21 จ.อุบลราชธานี มายังท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อทำพิธีบรรจุประจำการเมื่อเร็วๆ นี้ ส่วนอีก 12 เครื่องอยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยทยอยให้แล้วเสร็จภายในปี 2565
หากย้อนดูประวัติของเครื่องบินขับไล่ F-5 ก่อนจะมาเป็นเครื่องบินแบบ F-5TH พบว่าเดิมมีประจำการอยู่ในกองทัพอากาศทั้งหมด 45 ลำ ประกอบด้วย F-5E และ F-5F โดยฝูงแรกสังกัดฝูงบิน 701 กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2521-2522 จำนวน 20 เครื่อง และในปี 2531 เพิ่มเติม F-5E มือสองจากสหรัฐอีก 5 เครื่อง ส่วนฝูงที่สองประจำการที่ฝูงบิน 211 กองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ในปี 2524 จำนวน 20 เครื่อง
โดยกฎการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่ทั่วไปจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถ ยืดอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยที่ผ่านมา F-5 ทั้ง 2 ฝูงบิน ผ่านการปรับปรุงมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2531 จำนวน 39 เครื่อง และครั้งที่สองในปี 2543-2546 จำนวน 31 เครื่อง ส่วนครั้งล่าสุดจำนวน 14 เครื่อง ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก 15 ปี
การปรับปรุง ‘เครื่องบินแบบ F-5TH’ ถือเป็นก้าวแรกของ ‘กองทัพอากาศ’ ในการยึดหลักการพึ่งพาตนเอง เพราะนอกจากช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินแล้วยังเปรียบเสมือนการสร้างเม็ดเลือดขาวเป็นภูมิคุ้มกันปกป้องประเทศ และในอนาคตจะต่อยอดไปสู่การอัพเกรดเครื่องบิน แอลฟาเจ็ต ให้เป็น-Multi Role และอัพเกรด Au-23 พีซเมกเกอร์ ต่อไป