ข่าว

เตือน ฟันผุอย่าปล่อยทิ้งไว้ เสี่ยงติดเชื้อลามอวัยวะข้างเคียง

เตือน ฟันผุอย่าปล่อยทิ้งไว้ เสี่ยงติดเชื้อลามอวัยวะข้างเคียง

21 พ.ย. 2562

สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ แนะพ่อแม่ใส่ใจสุขภาพปากและฟันของเด็ก ปล่อยให้ฟันผุไม่รักษา อาจติดเชื้อรุนแรง อักเสบ เป็นหนอง แถมเสี่ยงลุกลามไปอวัยวะต่างๆ

 

                วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายงานข่าวเด็กฟันผุลุกลามจนกระทั่งติดเชื้อรุนแรง หนองขึ้นตา หวิดตาบอด เป็นประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิด (อ่านข่าว หนูน้อยวัย 3 ขวบ ฟันผุติดเชื้อรุนแรง หนองขึ้นตาหวิดตาบอด)

 

 

 

                เนื่องจากฟันผุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แบคทีเรียในช่องปาก การดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม กินขนมขบเคี้ยวเป็นประจำ ไม่ชอบแปรงฟัน หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการอักเสบ หากเชื้อโรคลุกลามไปที่รากฟัน เกิดหนอง จะส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น ตา โพรงไซนัส และสมอง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและกระจายไปอวัยวะต่างๆ ดังนั้นการป้องกันฟันผุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กเล็ก พ่อแม่ควรใส่ใจ โดยหมั่นสังเกตฟันของเด็ก เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู ฟันที่มีการเปลี่ยนเป็นสีดำหรืออาจมีอาการปวดฟัน ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว หลีกเลี่ยงขนมหวานที่เหนียวติดฟัน เช่น ทอฟฟี่ ผลไม้อบแห้ง (อ่านข่าว สั่งพักงานหมอหนึ่งปีหลังถอนฟัน 10 ซี่ใน 5 วันคนไข้ดับ)

 

 

เตือน ฟันผุอย่าปล่อยทิ้งไว้ เสี่ยงติดเชื้อลามอวัยวะข้างเคียง

 

 

                ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่อยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบฟันเกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติกที่มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟันจนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง โดยเริ่มจากรูเล็กๆแล้วลุกลามใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นฟันผุ ซึ่งอาการที่พบได้แก่ มีรูหรือมีรอยผุที่ฟัน เสียวฟันมากขึ้นเมื่อดื่มหรือรับประทานอาหารหวาน ร้อนจัดหรือเย็นจัด ปวดฟัน มีอาหารติดบริเวณซอกฟันบ่อยๆ พ่อแม่จึงควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6 - 12 เดือน เพื่อจะได้ตรวจพบฟันผุตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหา ในช่องปากและโรคฟันอื่นๆ นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง

 

 

 

 

----------------------------------

(ขอบคุณที่มา กรมการแพทย์)