พิพากษาวันนี้ โอ๊ค พานทองแท้ คดีฟอกเงินกรุงไทย
ชี้ชะตา โอ๊ค พานทองแท้ คดีฟอกเงินธนากรุงไทย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดฟังคำพิพากษาวันนี้ เจ้าตัวยันพร้อมมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง
วันนี้ (25 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของ ธ.กรุงไทยฯ ให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายพานทองแท้ หรือโอ๊ค ชินวัตร" อายุ 40 ปี บุตรชายคนโตของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย
โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้อง นายพานทองแท้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.61 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และสมคบคบกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 , 9 , 60 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 91
ซึ่งคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.47 หลังจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร กับพวกร่วมกันกระทำผิดกับอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ ในการอนุมัติสินเชื่อโดยมิชอบ ทำให้ธนาคารเสียหายจำนวน 10,400,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นสี่ร้อยล้านบาท) แล้วนายวิชัยกับพวกร่วมกันฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด โดยนายวิชัย ได้นำบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่มีนายรัชฎา บุตรชาย , นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา เป็นกรรมการฯ บริษัทแกรนด์แซทเทิลไลท์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายเชื้อ ช่อสลิด เป็นกรรมการฯ มาใช้ในการรับโอนเงิน แล้วนำเงินนั้นไปซื้อขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สิน โดยนายวิชัย ได้โอนเงินจากการขายหุ้นนั้น ให้นายพานทองแท้ จำเลย จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายรัชฎา บุตรของนายวิชัย และบุคคลในครอบครัวทั้งสองมีความรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
โดยนายวิชัย สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 17 พ.ค.47 จากบัญชีกระแสรายวัน ธ.ไทยธนาคาร สาขาบางพลัด ระบุชื่อนายพานทองแท้ ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.47 จำเลยได้นำเช็คนั้นเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาบางพลัดของจำเลย และวันที่ 24 พ.ค.47 จำเลยได้ถอนเงิน 10 ล้านบาทเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลยอีกบัญชี จากนั้นระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-26 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงินออกจากบัญชีผ่าน ATM ครั้งละ 5,000 - 20,000 บาทรวม 11 ครั้ง
และช่วงในวันที่ 14 มิ.ย.47 มีเงินฝากเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ของจำเลย 80,000 บาท แล้ววันที่ 30 พ.ย.47 จำเลยได้ถอนเงิน 8,800,000 บาทจากบัญชีดังกล่าว เข้าฝากบัญชีกระแสรายวันธ.กรุงเทพ สาขาซอยอารีย์ ซึ่งมียอดเงินรวมในบัญชี 14,720,352.07 บาท
ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค.47 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 14,700,000 บาทจากบัญชีกระแสรายวัน ธ.กรุงเทพสาขาซอยอารีย์ โดยนายวิชัย (ปัจจุบัน อายุ 80 ปี) , นายรัชฎา (ปัจจุบัน อายุ 53 ปี) กับพวก และอดีตผู้บริหาร ธ.กรุงไทยฯ (รวม 18 คน) ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกคดีร่วมทุจริตการอนุมัติสินเชื่อ คนละตั้งแต่ 12-18 ปี เมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 และอัยการยังได้ยื่นฟ้องนายวิชัย , นายรัชฎา กับพวก อีกรวม 6 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 4 ก.ย.61 ในคดีหมายเลขดำ อท.214/2561 ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินด้วย (คดีอยู่ระหว่างไต่สวนพยาน)
ซึ่งชั้นพิจารณาศาลอาญาคดีทุจริตฯ “นายพานทองแท้” จำเลย ก็ให้การปฏิเสธสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง เงินดังกล่าวเป็นส่วนที่จะร่วมลงทุนธุรกิจนำเข้ารถซุปเปอร์คาร์ กับนายรัชฎา บุตรชายของนายวิชัย อดีตผู้บริหารกฤษดามหานคร ขณะที่ “นายพานทองแท้” ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 1 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
โดยชั้นพิจารณา ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์-จำเลย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มตรวจสอบการกระทำผิด เช่น พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ , กลุ่มตรวจสอบเส้นทางการเงิน เช่น ป.ป.ง. , กลุ่มกล่าวถึงการลงทุนธุรกิจ อาทิ ตัวจำเลย ในวันที่ 24,25, 26 ก.ย.รวมทั้งหมด 3 นัด
ขณะที่การไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย นายพานทองแท้ขึ้นเบิกความด้วยตนเอง ระบุเกี่ยวกับการวางแผนที่จะดำเนินธุรกิจนำเข้ารถยนต์ซุปเปอร์คาร์ว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นผู้คิดเองตั้งแต่ช่วงปี 2547 จากพูดคุยในกลุ่มเพื่อน 5-6 คน โดยนายรัชฎา ที่รู้จักกันมาตั้งแต่อายุ 21 ปี จะขอร่วมลงทุนด้วย ซึ่งขณะนั้นคิดไว้ว่าการลงทุนน่าจะต้องใช้เงินลงทุนคนละ 20 ล้านบาทแต่ยังไม่ได้กำหนดว่าร่วมลงทุนกี่คน แต่สุดท้ายธุรกิจนี้ไม่ได้ดำเนินการโดยยุติลงในชั้นของการศึกษาแนวทาง ซึ่งได้มอบหมายให้นายเฉลิม แผลงศร ผู้ที่ตนให้ความไว้วางใจดูแลเรื่องการเงินธุรกิจบริษัทต่างๆ และเงินส่วนตัว ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจดังกล่าว ได้แจ้งผลการศึกษาการดำเนินธุรกิจนี้ว่ามีความเป็นไปได้ยากและจะไม่คุ้มเงินลงทุนทางธุรกิจ
ส่วนที่นายรัชฎา โอนเงิน 10 ล้านบาทที่จะมาร่วมลงทุนโดย เป็นเช็คชื่อนายวิชัยนั้นจำเลยไม่ทราบเหตุผล ขณะที่ระหว่างการถูกดำเนินคดีจำเลยได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นการเมืองที่เชื่อว่าถูกกลั่นแกล้งแต่ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาตรวจสอบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงาน อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาการพิจารณาชั้นไต่สวนพยานเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา "นายพานทองแท้" เคยกล่าวไว้เสมอว่าจะเดินทางมาศาลทุกนัดและพร้อมมาฟังคำตัดสินด้วยตนเองในวันที่ 25 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนตามหลักกฎหมาย เมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพากษา นายประกันตามสัญญาประกันต้องดูแลพาจำเลยมาศาลตามนัด หากถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาล นายประกันและทนายความจำเลยต้องแจ้งเหตุจำเป็นให้ศาลทราบ ศาลจะพิจารณาถึงเหตุจำเป็นนั้นเพื่อพิจารณาสั่งการตามขั้นตอนกฎหมาย เช่น การใช้ดุลยพินิจเลื่อนฟังคำพิพากษาหรือไม่