ขสมก.แจงเหตุเลื่อนประชุมแผนฟื้นฟู
ขสมก.แจงเลื่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการเร่งสร้างความเข้าใจการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศเลื่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” เนื่องจากผู้อำนวยการ ขสมก.ต้องการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ให้กับพนักงาน ขสมก. และประชาชนทุกภาคส่วน ก่อนจัดให้มีการประชุมดังกล่าวอีกครั้งในเร็วๆ นี้
อ่านข่าว ขสมก.รื้อแผนฟื้นฟู หั่นค่าโดยสาร ลดพนักงาน
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ขสมก.ได้เลื่อนการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ออกไปก่อน เนื่องจากต้องการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์ และข้อดีของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการให้กับพนักงาน ขสมก.และประชาชนทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ได้เห็นชอบในหลักการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ซึ่งมีกรอบการดำเนินงาน จำนวน 7 ข้อ ได้แก่
1. การจัดหารถโดยสารใหม่ และปรับปรุงสภาพรถโดยสารเดิม จำนวน 3,000 คัน 2. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ 3. การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการเดินรถ ได้แก่ การติดตั้งระบบ GPS เพื่อควบคุมการเดินรถ และระบบ E-ticket เพื่อความสะดวก ในการจัดเก็บค่าโดยสาร 4. การปรับโครงสร้างองค์กร
5. การให้พนักงานเก็บค่าโดยสารเข้าโครงการเกษียณอายุ ก่อนกำหนดด้วยความสมัครใจ โดยมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานอย่างเหมาะสม ส่วนพนักงานขับรถโดยสารยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ได้เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการเดิม ที่ได้รับความเห็นชอบ จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562
6. การพัฒนาอู่บางเขน และอู่มีนบุรี เป็นพื้นที่เชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ 7. การให้ภาครัฐรับภาระหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการตามนโยบาย
แต่เนื่องจากกระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วน ที่จะลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง ลดภาระการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ลดปัญหาการจราจร ลดมลภาวะทางอากาศ และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่ศึกษา และกำหนดแนวทางการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.
รวมทั้งมีหน้าที่เชิญหน่วยงาน หรือผู้เกี่ยวข้องให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา กำหนดแนวทางการปรับปรุง โดย ขสมก.ยังคงยึดกรอบการดำเนินงาน จำนวน 5 ข้อ ตามแผนฟื้นฟูกิจการเดิม ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562
แต่มีการปรับปรุง จำนวน 2 ข้อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.ได้อย่างยั่งยืน คือ 1. การเช่ารถโดยสารปรับอากาศ ที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ NGV และไฟฟ้า ประมาณ 3,000 คัน มาวิ่งให้บริการประชาชน ในเส้นทางที่ ขสมก.ได้รับอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบก แทนการจัดซื้อรถโดยสาร
โดยจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่งให้บริการจริง (บาท/กิโลเมตร) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการจัดหาและซ่อมบำรุงรถโดยสาร อีกทั้ง มีความยืนหยุ่นสูงในการปรับแผนการเดินรถให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าในอนาคตนอกจากนี้ ขสมก.จะจัดเก็บค่าโดยสาร ในรูปแบบตั๋วรายวัน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ในราคา 30 บาท และตั๋วรายเดือน (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว) ราคา 750 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
2. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถ เพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อน และจัดเดินรถในลักษณะ Feeder Liner (ป้อนผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบราง) และ Circle (วิ่งเป็นวงกลม) ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักได้อย่างเป็นระบบการปรับปรุง
แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. จะทำให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ดังนี้
1. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะเปลี่ยนมาใช้ตั๋วโดยสารรายวัน และตั๋วโดยสารรายเดือน
2. การจัดเดินรถในลักษณะ Feeder Liner และ Circle จะทำให้ ขสมก.สามารถหมุนเวียนรถ มาให้บริการได้มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริการใช้เวลารอคอยรถโดยสาร ไม่เกิน 5 - 10 นาที
3. การปรับปรุงเส้นทางเดินรถให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง และหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วยแก้ปัญหาการจราจรและลดปัญหามลภาวะทางอากาศ
4. การเช่ารถโดยสารแทนการจัดซื้อ จะทำให้ ขสมก. ลดค่าใช้จ่ายในการจัดหารถโดยสารใหม่ มาให้บริการประชาชนและไม่มีภาระในการซ่อมบำรุง ทำให้ลดภาระในการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ
โดย ขสมก.จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประโยชน์และข้อดีของการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ให้กับพนักงาน ขสมก.และประชาชนทุกภาคส่วน ก่อนจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการอีกครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้เข้าร่วมประชุม มาใช้เป็นข้อมูล ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ให้มีความเหมาะสมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป