ข่าว

กรมการแพทย์ เตือน แสตมป์มรณะ หลอนประสาทรุนแรง

กรมการแพทย์ เตือน แสตมป์มรณะ หลอนประสาทรุนแรง

26 พ.ย. 2562

กรมการแพทย์ เตือนภัย "กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ" อันตราย ออกฤทธิ์หลอนประสาทรุนแรง

 

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัย "กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ" อันตราย ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง แนะผู้ปกครองไม่ตระหนกแต่เฝ้าระวังสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน

 

กรมการแพทย์ เตือน แสตมป์มรณะ หลอนประสาทรุนแรง

 

         นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ" เป็นการนำสาร แอลเอสดี (LSD) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ออกฤทธิ์หลอนประสาท มาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) มีลวดลายและสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีลักษณะคล้ายแสตมป์ และนำมาอมไว้ใต้ลิ้น ซึ่งจะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที นาน 8 – 12 ชั่วโมง สารแอลเอสดีที่อยู่ในกระดาษจะทำให้รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูงและอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก นอนไม่หลับ ปากแห้ง ตัวสั่นและเบื่ออาหาร ทั้งนี้เมื่อเสพสารแอลเอสดีเข้าสู่ร่างกาย ในระยะแรกจะทำให้มีความสุข อารมณ์ดี รู้สึกคึกคัก หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหรือเหตุการณ์ในอดีต เกิดอาการหวาดกลัว บางรายอาจทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่นและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

                        

กรมการแพทย์ เตือน แสตมป์มรณะ หลอนประสาทรุนแรง

         

 

          นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า การเสพสารแอลเอสดีจะทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนการทำร้ายตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้หากมีการเสพเกินขนาดมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภท หรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน  สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดของ "กระดาษเมา กระดาษมหัศจรรย์ หรือ แสตมป์มรณะ" ยังไม่มีการแพร่ระบาด มีพบบ้างในนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

          จากสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดของ สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่มีผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษา การมีข่าวเรื่องนี้เป็นการสร้างการรับรู้และเฝ้าระวังสำหรับผู้เกี่ยวข้อง แนะผู้ปกครองไม่ตื่นตระหนกแต่ควรเฝ้าระวังและสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุยบอกกล่าวถึงอันตรายและผลกระทบที่จะตามมา

 

          ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th