ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด
ปั้นงานวิ่งมาราธอนไทยสู่มาตรฐานระดับโลก
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวเปิดโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” (THAILAND ROAD RACING STANDARD) ยกระดับงานวิ่งมาราธอนไทยสู่มาตรฐานโลก ณ ห้องประชุม ชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา กกท. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” ว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเห็นถึงผลประโยชน์และโอกาสที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจและภาพพจน์ของประเทศ ผ่านการจัดงานวิ่งมาราธอนที่ได้มาตรฐาน ภายใต้นโยบาย สปอร์ต ทัวริซึ่ม ที่นอกจากจะช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนแล้ว ยังดึงดูดความสนใจจากชาวต่างชาติ ช่วยสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับประเทศไทยด้วย จึงเป็นที่มาของการลงมือทำโครงการนี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีการจัดงานวิ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการดึง 5 งานวิ่งแถวหน้าของประเทศมาเป็นต้นแบบนำร่องงานวิ่งอื่นๆ ประกอบด้วย บางแสน 42 ชลบุรีมาราธอน, บุรีรัมย์ มาราธอน, จอมบึงมาราธอน, ภูเก็ตธอน, บางกอก มิดไนท์ มาราธอน และเพื่อเป้าหมายคือการขึ้นเป็นผู้นำด้านการจัดงานวิ่งมาราธอนเบอร์ 1 ของอาเซียน ภายใน 3 ปีจากนี้ และสร้างมาตรฐานงานวิ่งที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยสืบไป
มร.คาห์ลัน อัล จูมาน ฮาเม็ด ประธานสหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย กล่าวว่า สหพันธ์กรีฑาแห่งเอเชีย เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลไทยในการที่จะยกระดับงานวิ่งมาราธอนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานระดับโลก ภายใต้มาตรฐานสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานในระดับสากลที่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวของการวิ่งบนถนนที่มีความเชื่อถือที่สุดในโลก เราจึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องบุคลากร แนวทางความรู้ การวางแผนการจัดการต่างๆ
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ นายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการ ตั้งแต่การวางมาตรฐานและคัดเลือกงานวิ่งที่จะเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งในปีแรกนี้จะเห็นได้ว่างานวิ่งทั้ง 5รายการที่เข้ามาร่วมนำร่อง ล้วนแล้วแต่เป็นงานวิ่งที่มีมาตรฐานและมีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะบุรีรัมย์ มาราธอน ที่ได้รับรองจากสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ หรือ World Athletics Road Race ให้เป็นรายการวิ่งระดับ "บรอนซ์เลเบล" อย่างเป็นทางการงานแรกของเมืองไทย รวมถึง บางแสน ฮาล์ฟ 21 มาราธอน ที่ได้ “ซิลเวอร์เลเบล” ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ในอนาคตประเทศไทยมีงานวิ่งระดับบรอนซ์เลเบลมากขึ้น ก่อนจะต่อยอดสู่ระดับซิลเวอร์และโกลด์ต่อไป
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า กกท. มั่นใจว่าโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” จะช่วยยกระดับงานวิ่งมาราธอนทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานระดับโลก รวมถึงทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไทยแลนด์ มาราธอน เมเจอร์ส เทียบเท่ากับนานาชาติ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Impact ให้แก่ประเทศอย่างล้นหลาม วัดได้จาก 5 งานวิ่งที่เข้ามาร่วมนำร่อง ซึ่งทั้ง 5 รายการสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนรวมกันเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท/ปี โดยทั้ง 5 งานนี้จะมาช่วยให้แนวทาง องค์ความรู้ และวางมาตรฐานสำหรับให้งานวิ่งอื่นๆ ได้ก้าวตามต่อไป
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับงานวิ่งทั่วประเทศไทยอย่างแท้จริง และเมื่อเมืองไทยมีงานวิ่งที่ได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้น มีงานวิ่งที่มีสไตล์ของตัวเองแตกต่างกันไป ก็จะกลายเป็นโปรดักที่ส์มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนักวิ่งที่เดินทางมาร่วมวิ่งและผู้ติดตาม ตลอดจนนักลงทุน สปอนเซอร์สินค้า หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวิ่งทั่วโลก (Brand Awareness) สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศมากมายมหาศาล ททท. จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและช่วยโปรโมตโครงการสู่ระดับนานาชาติอย่างเต็มที่
นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัด อีเวนท์การแข่งขันรายการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกีฬาแห่งมวลชนมากกว่า 1,200 รายการต่อปี งานวิ่งมาราธอนถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉลี่ย 1 งาน สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ทาง สสปน. ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการสนับสนุนและดึงงานประเภทกีฬามวลชน (Mass Participation) เข้ามาจัดในประเทศไทย จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับมาตรฐานงานวิ่งมาราธอนในประเทศไทย นำมาซึ่งการสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดให้นักวิ่งจากต่างประเทศเดินทางมาร่วมงานวิ่งมาราธอนในประเทศไทยมากขึ้น
ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สนับสนุนเรื่องการจัดงานวิ่งและการออกกำลังกายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยทำให้ประชาชนมีความรู้ผ่านงานวิจัยที่เราทำ ทำการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุนและจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการ “ไทยแลนด์ โรด เรซซิ่ง สแตนดาร์ด” อย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะช่วยยกระดับการจัดงานวิ่งในประเทศไทยและช่วยให้ประชาชนสนใจอยากที่จะมาวิ่งมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีพิธีมอบโล่แสดงความยินดีให้กับ “บุรีรัมย์ มาราธอน” ที่ได้รับรองให้เป็นงานวิ่งมาราธอน ระดับบรอนซ์เลเบล และบางแสน ฮาล์ฟ 21 มาราธอน ที่ได้รับรองให้เป็นงานวิ่งฮาล์ฟมาราธอน ระดับซิลเวอร์ เลเบล รวมถึงมอบเสื้อสามารถแก่ 5 มาราธอนไทยที่มาร่วมรำร่อง รวมถึงจัดสัมมนาในหัวข้อ “ขับเคลื่อนนโยบาย สู่ความสำเร็จ นำร่องมาราธอนไทยสู่มาตรฐานโลก”, หลากมิติแห่งความสำเร็จ การเติบโตจากงานวิ่งมาราธอนในมาตรฐานโลก” และ “Roadmap ก้าวแรกสู่ Bronze Label ก้าวไกลให้ถึง Gold Label”
พร้อมกันนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ มาร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงประสบการณ์การจัดงานวิ่งระดับโลกใน 2 อีเวนท์สำคัญคือ 1.กุญแจแห่งความสำเร็จของ “โคเปเฮเกน ฮาล์ฟ มาราธอน” งานวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกภายใต้มาตรฐานโกลด์ เลเบล โดย เจคอบ ลาร์เซ็น
และ 2.ประสบการณ์การใช้งานวิ่งมาราธอนในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดย เอลานา เมเยอร์ อดีตนักวิ่งมาราธอนชาวแอฟริกาใต้ ดีกรีเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ ผู้ผันตัวมาพัฒนาเมืองบ้านเกิดเคปทาวน์ ให้กลายเป็นเมืองสปอร์ตทัวริซึมระดับโลก พร้อมใช้เวลาเพียง 3 ปี ปั้นงานวิ่ง “เคปทาวน์ มาราธอน” จนคว้าโกลด์ เลเบล ได้สำเร็จ