ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์
ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์
เนื่องในโอกาส “วันพ่อแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 อีกทั้งยังเป็น “วันชาติไทย” ด้วย
พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จัดกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ จัดขึ้นติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ริเริ่มโดยนายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต มีสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อ ได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งเป็นชื่ออันมีมงคล
“พ่อ” นับว่าเป็นผู้ที่มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เป็นลูกควรจะให้ความเคารพ เทิดทูน และตอบแทนพระคุณท่านด้วยความกตัญญู อีกทั้งยังเป็นเรื่องอันสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็น “พ่อ” จึงได้มีการถือเอาวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น วันพ่อแห่งชาติ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงยังใยตั้งแต่พระเยาว์มาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณมิรู้ลืม เรียกได้ว่าพระองค์ทรงเป็น พ่อ ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา
“คมชัดลึกออนไลน์” ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้ารัชกาลที่9อย่างหาที่สุดมิได้
พระราชประวัติร.9
พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลก และยาวนานที่สุดในประเทศไทย
ครั้งทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในราชสกุลมหิดลอันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จุลศักราช 1289 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม 2470 ด้วยขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่สาม ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในกาลต่อมา)และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา(สกุลเดิมตะละภัฏ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในกาลต่อมา) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า เบบีสงขลา (อังกฤษ: Baby Songkla) ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า “เล็ก” ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระนาม ภูมิพลอดุลเดช นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า “ภูมิบาล” ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไปจนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว “ย” ตราบปัจจุบัน
เมื่อพ.ศ.2471 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2472 สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาไม่ถึง 2 พรรษา
การศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เมื่อทรงพระชนมพรรษาได้ 4 พรรษา ครูประจำชั้นของพระองค์เป็นนางชีคาทอลิกคณะอุรุสิลิน(เซนต์เออร์ชูล่า) ชื่อ ซิสเตอร์มารี เซเวียร์ กล่าวไว้ว่า “ฉันจะไม่มีวันลืมเจ้านายพระองค์น้อยที่เฉลียวฉลาดและทรงมีจิตใจดีอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเสด็จมาทรงเข้าชั้นเรียนร่วมกับเด็กๆ ชาวไทยคนอื่นเลย แม้วันแรกๆ ที่เสด็จมาโรงเรียนยังสังเกตเห็นได้ว่า ทรงมีพรสวรรค์ทางดนตรี แต่ก็ทรงเรียนวิชาอื่นๆ อย่างสบาย ทรงกระตือรือร้นสนพระทัยและเอาพระทัยใส่ในทุกสิ่งรอบพระองค์”
จนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน พ.ศ.2477 เป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่จะทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ เมืองไชยี โดยทรงเป็นนักเรียนไปมาก่อนในตอนแรก แล้วจึงทรงเป็นนักเรียนประจำที่ได้กลับบ้านเสาร์อาทิตย์ ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวอยู่ใกล้เมืองโลซาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาของทวีปยุโรปที่ทรงถนัดที่สุด ส่วนภาษาอังกฤษนั้นทรงเรียนในภายหลังต่อมา สำหรับภาษาไทยทรงมีพระอาจารย์ถวายการสอนเป็นพิเศษที่ที่ประทับ ขณะพระชนมพรรษา 8 พรรษา ทรงได้รับอนุญาตให้ทรงจักรยานไปโรงเรียนและทรงเรียนดนตรีได้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า “ทรงมีพระกระแสเสียงใสมาก”
จากนั้นทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศสภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ “โรงเรียนแห่งใหม่ของซืออีสโรมองด์” (ฝรั่งเศส: École Nouvelle de la Suisse Romande,เอกอลนูแวลเดอลาซืออีสโรมองด์) เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน (ฝรั่งเศส: Chailly-sur-Lausanne)
สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์
เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2478
“ข้าพเจ้าจากประเทศไทยไปเกือบเจ็ดปีเต็ม ข้าพเจ้าแทบจะวาดภาพไม่ออกเลยว่าประเทศและผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งภายหลัง
เดือนพฤศจิกายน 2481 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือนโดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระอนุชา(พระอิสริยยศช่วงนั้น) เสด็จฯ ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จฯ เยือนสำเพ็งย่านธุรกิจของคนจีน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดชก็โดยเสด็จด้วย และทรงทำหน้าที่ช่างภาพถวาย
เหตุร้ายไม่คาดฝัน
อีกไม่กี่วันที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ แต่หมายกำหนดการนั้นต้องเลื่อนออกไปเมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไปเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีพระราชดำรัสอำลาประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงว่า
“ข้าพเจ้ามีความจำเป็นที่จะต้องจากประเทศไทยและพวกท่านทั้งหลายเพื่อไปศึกษาต่อให้มีความรู้ด้านใหม่”
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ จนถึงพ.ศ.2488 ทรงรับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาสคลาซีคกังโตนาล แล้วทรงเข้าศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานแต่เปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์ไปเป็นสาขาสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์
พระราชินีเฝ้าไข้ใกล้ชิด
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จฯ เยือนกรุงปารีสทรงพบกับม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ในขณะนั้นทั้งสองพระองค์มีพระชนมพรรษา 21 พรรษา และ 15 พรรษา ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2491 ในระหว่างประทับอยู่ต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงรถยนต์พระที่นั่งเฟียสทอปอลิโนจากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้พระเนตรขวาได้รับบาดเจ็บ
ม.ร.ว.สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากพระอาการประชวรอันเป็นเหตุทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงใกล้ชิดกันนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงหมั้นและทรงประกาศการหมั้นอย่างเป็นทางการในวันคล้ายวันเกิดอายุ 17 ปี ของ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ 12 สิงหาคม 2492 ณ สถานทูตไทย กรุงลอนดอน ซึ่งพระบิดาของพระคู่หมั้นทรงเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ในขณะนั้น และเสด็จนิวัตพระนครในปีถัดมาโดยประทับ ณพระที่นั่งอัมพรสถานต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม ซึ่งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสนี้ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พระราชพิธีราชาภิเษก
เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยว่าจะทรงครองราชสมบัติแต่ในช่วงการจัดงานพระบรมศพของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเท่านั้นเพราะยังทรงพระเยาว์และไม่เคยเตรียมพระองค์ในการเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อน ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาเพิ่มเติมที่สวิตเซอร์แลนด์ก็ทรงได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” จึงทรงนึกตอบในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในหน้าที่พระมหากษัตริย์ของพระองค์ดังที่ได้รับสั่งตอบชายคนนั้นในอีก 20 ปีต่อมา
วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ในโอกาสนี้มีพระราชดำริว่าตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้นพระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2494 ต่อมาทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ปัจจุบันทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2498 ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2500
ทรงพระผนวช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในบวรพระพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ หลังจากนั้นเสด็จฯ ไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงพระผนวชนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมปีเดียวกัน
ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศพระภิกษุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า–เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย นอกจากนี้ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพิเศษอื่นๆ เช่น ในวันที่ 24 ตุลาคม 2499 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงร่วมสังฆกรรมในพิธีผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในพระบรมราชินูปถัมภ์ในวันที่ 28 ตุลาคม 2499 เสด็จฯ ไปทรงรับบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในโอกาสนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
อนึ่งในการทรงพระผนวชครั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2499 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระราชอุปัชฌาจารย์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และถวายฐานันดรศักดิ์เป็นกรมหลวง
พระราชกรณียกิจ
ตลอดระยะเวลาการครองราชย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน อาทิ ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดีพ.ศ. 2503 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ได้เลิกร้างไปตั้งแต่พ.ศ.2479 และทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย สถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ การดนตรีและศิลปะอื่นๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน้ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
ด้านวรรณศิลป์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทความทรงแปลหนังสือ เช่น นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระมหาชนก และ พระมหาชนกฉบับการ์ตูน เรื่องทองแดงเป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับคุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง เป็นต้น
ด้านการพัฒนาชนบททรงพัฒนาชนบทในรูปโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีจุดประสงค์คือการพัฒนาชนบทเพื่อให้ราษฎรในชนบทได้มีความเป็นอยู่ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวให้ดีขึ้นแนวพระราชดำริที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาชนบทคือมีพระราชประสงค์ช่วยให้ชาวชนบทสามารถพึ่งตนเองได้โดยการสร้างพื้นฐานหลักที่จำเป็นต่อการผลิตให้แก่ราษฎรเหล่านั้นทรงส่งเสริมให้ชาวชนบทมีความรู้ในการประกอบอาชีพตามแต่ละท้องถิ่นนอกจากนี้ยังทรงหาทางนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาประยุกต์กับภูมิปัญญาชาวบ้าน
ด้านการเกษตรและชลประทานเขื่อนภูมิพลในด้านการเกษตรจะทรงเน้นการค้นคว้าทดลองและวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ตลอดจนการศึกษาแมลงศัตรูพืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งแต่ละโครงการจะเน้นให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงนอกจากนี้ยังทรงพยายามไม่ให้เกษตรกรยึดติดกับพืชผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวแต่เกษตรกรควรมีรายได้จากกิจกรรมอื่นด้วยเพื่อจะได้พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง
ด้านการแพทย์โครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในระยะแรกล้วนแต่เป็นโครงการด้านสาธารณสุขในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่างๆจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆและล้วนเป็นอาสาสมัครพร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์พร้อมให้การรักษาพยาบาลราษฎรผู้ป่วยไข้
เหนืออื่นใด ยังมีโครงการทันตกรรมพระราชทานซึ่งเป็นพระราชดำริให้ทันตแพทย์อาสาสมัครเดินทางออกไปช่วยเหลือบำบัดโรคเกี่ยวกับฟันตลอดจนสอนการรักษาอนามัยของปากและฟันโดยไม่คิดมูลค่านอกจากนั้นหน่วยแพทย์หลวงยังจัดเจ้าหน้าที่ออกเดินทางไปรักษาราษฎรผู้ป่วยเจ็บตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกด้วย
ด้านการศึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิอานันทมหิดลเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อสนับสนุนทางด้านคัดเลือกบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยพระองค์พระราชทานทุนให้ตลอดจนดูแลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในต่างประเทศนั้นๆ อีกด้วย
ส่วนในประเทศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารทางการศึกษาแบบให้เปล่าตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในลักษณะทั้งอยู่ประจำและไปกลับแบ่งเป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จำนวน 26 โรงเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน 14 โรงเรียน
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ทรงจัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น มูลนิธิชัยพัฒนาก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน 2531 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้
มูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2512 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อศึกษาทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆเช่นการปลูกข้าวการเลี้ยงโคนมการเพาะพันธุ์ปลานิลและอื่นๆ อีกมากมาย
โครงการแก้มลิงก่อตั้งขึ้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2538 เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยหลังเกิดอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ.2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราวเมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป
โครงการฝนหลวงก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2512 เพื่อแก้ปัญหาเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนมีฉบับปกติ 37 เล่มฉบับเสริมการเรียนรู้ 19 เล่มเริ่มพิมพ์ครั้งแรกในพ.ศ.2516 เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุดเน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทยแต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชาเนื้อหาของเรื่องต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับเด็กรุ่นเล็กเด็กรุ่นกลางและเด็กรุ่นใหญ่
โครงการแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรดโดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดแล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาวจนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้
กังหันชัยพัฒนาสร้างต้นแบบได้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 เป็นกังหันน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ
พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินเป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างด้วยพระองค์เองพระราชทานแก่ทหารตำรวจข้าราชการและพลเรือนในช่วงระหว่างพ.ศ.2508-2513มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์
เสด็จสวรรคต
ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ยาวนานตั้งแต่ พ.ศ.2489 จนถึง 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 เสด็จสวรรคต พสกนิกรเศร้าโศกเสียใจต่างร่ำไห้กันทั้งแผ่นดิน แม้วันเวลาผ่านไปกว่า 3 ปี แต่คนไทยทั่วทั้งแผ่นดินเมื่อระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกครั้งน้ำตาไหลนองอาบสองแก้ม
ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินในดวงใจคนไทยทั้งประเทศ ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก
ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์