ข่าว

เปิดแผนที่ขุมทอง700ตันในไทยพบ76พื้นที่

เปิดแผนที่ขุมทอง700ตันในไทยพบ76พื้นที่

08 ธ.ค. 2552

“ กรมธรณี ” เปิดแหล่งขุมทองของไทยพบ 76 พื้นที่รวม 700 ตัน ครอบคลุมแอ่งโคราช และตอนบนของภาคกลาง ชี้ศักยภาพสูงมูลค่ารวม 9 แสนล้านบาท พร้อมเตือนชาวบ้านแห่ร่อนแร่ทองใช้สารไซยาไนต์ กระทบสุขภาพ และแหล่งน้ำ

วันที่ 8 ธ.ค. นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า      เนื่องจากสถานการณ์ราคาทองคำของโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา   ที่ผ่านมากรมทรัพยากรธรณี   ได้มีการสำรวจและศักยภาพการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำในประเทศไทยไว้  

 ล่าสุดพบมีแหล่งแร่ทองคำในประเทศรวม   76 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 31 จังหวัด   มีปริมาณแร่ทองคำประมาณ 700 ตัน และหากสกัดเป็นทองคำบริสุทธิ์แล้ว คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ   9 แสนล้านบาท โดยมีการสะสมตัวแบบทุติยภูมิ อีกหลายพื้น ที่ เฉพาะแหล่งลำปาง – ตาก มีแร่ทองคำประมาณ 24 ตัน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าแหล่งศักยภาพสูงส่วนใหญ่พบในพื้นที่ตอนบนของภาคกลาง ตามแนวเทือกเขาหินแกรนิตทางตะวันออก และขอบด้านตะวันตกของแห่งที่ราบสูงโคราช  

  อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า   สำหรับพื้นที่แหล่งแร่ทองคำที่มีความสมบูรณ์ของเนื้อทองคำเฉลี่ย ตั้งแต่ 1-2 และ 5-10   กรัมต่อตันมี   4-5 แห่งที่มีศักยภาพในอนาคต ได้แก่   ห้วยคำอ่อน บริเวณรอยต่อ จ.ลำปาง-แพร่ ดอยตุง บริเวณเชิงเขาทางฝั่ง อ.แม่จัน   เขาช่องกาย อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี   รอยต่อ อ.เมือง จ.ตาก – อ.ด่านลานหอย จ.สุโขทัย บ้านบ่อทอง จ.ชลบุรี และบางแห่งเริ่มมีชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปขุดหาสินแร่ทองคำ จนเริ่มมีผลกระ ทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีการใช้สารไซยาไนต์ และปรอททำให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและสุขภาพของผู้ร่อนทองงเอง

 ส่วนพื้นที่แร่ทองคำที่เคยได้รับสัมปทานจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้ว อยู่แถวรอยต่อระหว่าง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์   เกรดทองคำเฉลี่ย 1.5-2.5 กรัมต่อตัน ที่เรียกเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และพื้นที่แหล่งแร่ภูทับฟ้า – ภูซำป่าบอน   ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เกรดทองคำเฉลี่ย 5 กรัมต่อตัน   ส่วนพื้นที่เขาพนมพา อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดย อบจ.พิจิตร กำลังขอต่ออายุประทานบัตร ทำให้มีชาวบ้านแห่เข้าไปขุดร่อนทองจำนวนมาก

 “เนื่องจากกรมทรัพยากรธรณี ไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ แต่มีคำสั่งจากทส. ให้จัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรแร่อย่างเป็นระบบเพื่อให้ภาครัฐ หรือเอกชนที่ต้องการจะเข้าไปพัฒนาแหล่งแร่ทองคำต่างๆ ใช้เป็นแผนในการดำเนินการไปในทิศทางที่ชัดเจน และเป็นแนวทางในการดำ เนินการเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน   นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในประเทศ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยกำหนดให้มีการทำ รายงานผลกระทบต่างๆ   ก่อนจะเข้าพัฒนาพื้นที่ โดยแผนหลักดังกล่าวจะจัดทำเสร็จสิ้นภายในปีนี้ และนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป ” นายอดิศักดิ์กล่าว

 ด้านนายพิทักษ์ รัตนาจารุรัตน์   ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า     สำหรับการสำรวจศักยภาพแร่ของไทยที่มีศักยภาพในการพัฒนา ได้แก่   กลุ่มหินปูน ถ่านหิน โปแตซ ทองคำ   และกำลังในปี 53 จะทำการสำรวจแร่ แรเอิร์ธ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไอทีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับแร่ทองคำในหลายแห่งที่มีชาวบ้านเข้าไปร่อนหาแร่ทองคำนั้น ยอมรับว่ายังไม่มีกฎหมายควบคุมได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การเจ็บป่วยของประชาชนที่ออกไปร่อนหาแร่ทองคำ   เนื่องจากในขั้นตอนการสกัดทองคำ ออกมาจะต้องใช้สารอันตราย เช่น ปรอท และไซยาไนด์ ซึ่งชาวบ้านจะต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำภายในหมู่บ้านที่ชาวบ้านจะต้องใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

 “ผลจากการได้รับสารเหล่านี้อยู่เป็นประจำทำให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท โรคมินามาตะ หรือโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังทำให้เด็กเกิดใหม่ที่ได้รับสารปรอทมีความพิการด้วย และจากการลงพื้นที่ก็พบว่ามีชาวบ้านจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ เขาพนมพา มีผู้เจ็บป่วยหลายราย และอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึงร้อยกว่าคน แต่ไม่เคยมีการสำรวจหรือทำรายงานเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นจึงอยากเตือนประชาชนที่ไปร่อนทองให้ระมัด ระวังต่อการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นเวลา เพราะรายได้ที่ได้จากการร่อนทองอาจจะไม่คุ้มกับชีวิตก็ได้ ” นายพิทักษ์กล่าว