ข่าว

เกษตรเตรียมรับมือน้ำนมดิบล้นตลาด

เกษตรเตรียมรับมือน้ำนมดิบล้นตลาด

15 ธ.ค. 2562

ก.เกษตรฯ พร้อมรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่คาดว่าจะเกินความต้องการในปี 2563 จัดตั้งโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน

 

15 ธันวาคม  2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการจัดตั้งโรงแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 

 

โดยกล่าวว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา) ที่มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม จึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มอบหมายให้มาขับเคลื่อนนโยบายเพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรโคนมให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง

 

ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่คาดว่าจะเกินความต้องการในปี 2563 จึงได้มอบหมายองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

ทั้งนี้ได้แก่ 1) การจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่ดำเนินการโดย อ.ส.ค. เพื่อรองรับผลผลิตน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาลได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ และ 2) การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร ที่ประกอบด้วย ศูนย์ Feed Center เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารโคนมในราคาต้นทุนต่ำ

 

 

เกษตรเตรียมรับมือน้ำนมดิบล้นตลาด

 

 

รวมทั้งศูนย์เลี้ยงโคนมทดแทน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการนำโคทดแทนมาเลี้ยงยังศูนย์แทน ตามข้อจำกัดด้านแรงงาน สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพของครอบครัว และการสร้าง Smart Farm เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านกิจการโคนมระดับนานาชาติ

 

 

 

สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง"คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจรภาคเหนือตอนบน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง"

 

โดยมีที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา (นายวิเชียร ผลวัฒนสุข) เป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้มีการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโครงการบริเวณเดียวกัน การศึกษาทบทวนโครงการพร้อมออกแบบโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมฯ อีกทั้งยังได้มีการรับมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ โดยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. เมื่อวันที 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

 

 

เกษตรเตรียมรับมือน้ำนมดิบล้นตลาด

 

 

ทั้งนี้ การเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ที่เป็นฐานการผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญและคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกร

 

โดยประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม 18 สหกรณ์ บริษัทเอกชน 4 แห่ง โรงงานนม 5 แห่ง มีเกษตรกรรวม 1,403 ราย จำนวนประชากรโดนมทั้งหมด 64,147 ตัว และมีปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ 8,990 ตันต่อเดือน หรือ 299.7 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มปริมาณน้ำนมดิบของสหกรณ์เพิ่มขึ้นทุกปีในปี 2559 เฉลี่ย 350 ตันต่อวัน โดยมีอัตราการเติบโตของน้ำนมดิบปริมาณในปี 2558 และ 2559 ประมาณ 5 - 6% คาดว่าในปี 2563 จะมีปริมาณน้ำนมดิบประมาณ 400 ตันต่อวัน