ประกันราคา"มันสำปะหลัง"2.50บาท ประกันความมั่นคงเกษตรกร
ประกันราคา"มันสำปะหลัง"2.50บาท ประกันความมั่นคงเกษตรกรปลูกมัน
ถือว่าบรรลุตามเป้าหมายสำหรับนโยบายประกันรายได้เกษตรของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและมันสำปะหลัง โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชตัวสุดท้ายที่จ่ายให้กับเกษตรกรงวดแรกในวันที่ 20 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ในกิโลกรัมละ 8.50 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 30 ไร่ ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% ปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 เป็นต้นไปหลังผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านั้นเป็นมันสำปะหลังที่รัฐบาล โอนเงินงวดแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 พฤศจิกายน 2562 มีประมาณ 20% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และจะโอนเงินทุกวันทำการแรกของเดือนให้กับเกษตรกรที่เหลือที่เก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ถึง 31 เมษายน 2563 หรือประมาณ 80% โดยจะโอนเงินครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 รวมทั้งมีการเก็บเกษตรกรที่ตกหล่น จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
ถ้าจะพูดถึงพืชเศรษฐกิจตัวนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับต้น ๆ ของโลก มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 9 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านตันต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของผลผลิตทั่วโลก มูลค่ารวมประมาณ 1 แสนแล้วบาทต่อปี มันสำปะหลังจึงได้ชื่อว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศตัวหนึ่ง
แต่จากสถาณการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกส่งผลทำให้ราคามันสำปะหลังในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ราคาไม่ค่อยสู้ดีนัก ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสดที่เชื้อแป้ง 25% กิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน โดยเกษตรกรสามารถรับเงินส่วนต่างชดเชยมากที่สุด 23,000 บาทต่อครัวเรือน โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับสิทธิในโครงการนี้ประมาณ 40,000 ครัวเรือน
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในปี 2562/2563 นั้นถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในกรณีราคามันสำปะหลังตกต่ำ และเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร หากไม่มีโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจะมีรายได้เพียงช่องทางเดียว แต่หากมีโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจะมีรายได้อีกช่องทางหนึ่ง จากเงินส่วนต่างระหว่างราคาที่ประกัน กับราคาตลาดอ้างอิง
"ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะดำเนินการเฉพาะประกันรายได้มันสำปะหลังอย่างเดียว แต่ยังมีมาตรการเสริมอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับราคามันให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในส่วนของการเพิ่มการใช้มันในประเทศ ซึ่งขณะนี้มี
นโยบายชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมให้นำมันสำปะหลังไปทำไบโอพลาสสิก หรือว่าพลาสติกชีวภาพ เพราะว่าหลายประเทศในโลกเริ่มรณรงค์เลิกใช้พลาสติกจริง เพราะว่าไม่ย่อยสลายและเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นจะดำเนินนโยบายที่จะใช้มันสำปะหลังไปทำถุง ทำหลอดดูดพลาสติก ทำภาชนะ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ ๆ ในโลกนี้มีหลายตลาด เช่น อินเดีย ตอนนี้รัฐบาลอินเดียแบนพลาสติกแล้ว ไม่ให้ใช้พลาสติกจริง เพราะฉะนั้นพลาสติกชีวภาพจะมีบทบาทสำคัญ คนอินเดียเป็นพันล้าน เพราะฉะนั้นมันสำปะหลังไทยก็มีอนาคตในการส่งออกไปอินเดียเพื่อทำไบโอพลาสติก"
บางช่วงบางตอนที่"จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวกับเกษตรกรระหว่างเป็นประธานเปิดงาน Kick Off โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 ครั้งที่1 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมกับลงนามตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่างสมาคมภาคเอกชน 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันลำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมมือกันไม่ให้เกิดการตัดราคาสำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ราคามันตกต่ำ และส่งผลมายังเกษตรกร และจะร่วมกันทำราคาส่งออกแนะนำเพื่อให้เกษตรกรสามารถขายได้ราคาดีขึ้น จากนั้นจะมีการประชุมทั้ง 4 สมาคมและกรมการค้าต่างประเทศทุกเดือนเพื่อผลักดันและติดตามโครงการดังกล่าว
ไม่เพียงการเร่งขับคลื่อนโครงการประกันรายได้ตามนโบายรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ขณะเดียวกัน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ยังสวมหมวกเซลแมนไปเจรจาค้าขายมันสำปะหลังกับต่างชาติเพื่อระบายสต๊อกมันสำปะหลังในประเทศอีกด้วย กระทั่งล่าสุดได้นำคณะเดินทางไปลงนาม MOU และเจรจาการค้าเพื่อส่งออกมันที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีนปริมาณ 2.68 ล้านตัน มูลค่า 18,636.2 ล้านบาท และเจรจาขายมันที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย 1,000 ตัน และเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ปริมาณ 150,000 ตัน มูลค่า 690 ล้านบาท
โดยอินเดียและตุรกีถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก โดยเฉพาะตุรกี ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีนำเข้าแป้งมันถึง 7-9% ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าเจรจา FTA ระหว่างไทยและตุรกีให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อลดภาษีนำเข้าแป้งมันให้เหลือ 0% ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์พยายามทำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคามัน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ในช่วงที่ราคามันตกต่ำ รัฐบาลยังมีมาตรการเสริมในการชะลอการขายมัน โดย ครม. ได้เห็นชอบให้ ธกส ให้สินเชื่อเกษตรกรกู้ดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยรัฐจะช่วยจ่ายภาระดอกเบี้ย 3% เพื่อให้เกษตรกรเก็บผลผลิตหัวมันไว้ และปล่อยขายเมื่อราคามันเพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลยังมีมาตรการให้การซื้อขายมันที่ลานมันมีความยุติธรรม เนื่องจากการนำมันไปขายมักจะมีเศษดินติดไปด้วย จึงมักจะมีข้อพิพาทระหว่างลานมันกับเกษตรกรถึงน้ำหนักของดิน ต่อไปนี้จะให้มีการติดตั้งเครื่องร่อนมัน โดยกระทรวงพาณิชย์จะช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและชดเชยภาระดอกเบี้ย รวมทั้งการให้ใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดเชื้อแป้งที่ผ่านมาตรฐานของกรมการค้าภายใน
“ผมขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกคนที่จะได้รับเงินส่วนต่างการประกันรายได้ และขอชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ตั้งใจทำงานมาโดยตลอดเพื่อพี่น้องเกษตรกร และขอให้เกษตรกรทุกท่านได้สบายใจได้ว่านโยบายประกันรายได้นี้จะยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงอายุรัฐบาลนี้”จุรินทร์กล่าวย้ำในวันเปิดงาน Kick Off โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทยนั้นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้ามันเส้น 99% พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีนเพียงตลาดเดียว อาจส่งผลกระทบกับเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง โดยในช่วงที่ผ่านมานายจุรินทร์ได้นำคณะภาคเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังในประเทศที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการแสวงหาตลาดใหม่แล้วยังต้องรักษาตลาดเดิมเอาไว้ด้วย โดยเมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นตลาดสำคัญที่มีศักยภาพในการนำเข้ามันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ สารให้ความหวาน กรดซิตริก เป็นต้น
สำหรับสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2562 มีปริมาณรวม 4.521 ล้านตัน มูลค่า 1,686.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลง 11.63% และ 6.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ส่งออกปริมาณรวม 5.116 ล้านตัน มูลค่า 1,810.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ