มข. จัดเสวนาพูดคุยแก้ปัญหา CSR และความเหลื่อมล้ำในภาคอีสาน
คณะนิติศาสตร์ มข. และภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ผู้ประกอบการโรงงาน จัดเสวนา "การทำ CSR และความเหลื่อมล้ำในภาคอีสาน" เพื่อให้ความรู้และแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการทำ CSR ให้เข้าใจอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดเสวนาเรื่อง “CSR ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในภาคอีสาน” โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยประกอบด้วย รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง , นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล และดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นอกจากนั้นยังมีตัวแทนผู้ประกอบการองค์กรธุรกิจ และโรงงานในภาคอีสานพร้อมภาคประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอีกกว่า 50 คน
เรื่องนี้ นางณัฐพร แสนโพธิ์ ตัวแทนชาวบ้านในอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า มีความผูกพันกับการทำ CSR กว่า 20 ปี เพราะบ้านตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตเหยื่อกระดาษ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าการทำ CSR คืออะไร แต่เมื่อมารู้จักแล้ว ก็เข้าใจว่าคือโครงการแก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงงานไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขปัญหาถูกจุด เพราะส่วนใหญ่ที่ได้คือการแจกของ การช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาน้ำเน่า อากาศเสีย ซึ่งทำให้มีคำถามว่า CSR คืออะไร เพราะสิ่งที่ชาวบ้านได้รับมันไม่น่าจะใช่การทำ CSR
“ก่อนหน้านี้การแก้ไขปัญหา หรือการทำ CSR ชาวบ้านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้มีส่วนร่วม แต่ตอนนี้กลับมีบทบาทน้อยลง ไม่รู้ว่าโรงงานไปกำหนดรูปแบบการทำมาจากไหน ทำให้ชาวบ้านเหมือนถูกสงเคราะห์มากกว่าที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จึงอยากจะให้หน่วยงานหรือองค์กรทบทวนการทำ CSR ที่เป็นการแก้ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่การสร้างภาพหรือการสงเคราะห์” นางณัฐพร กล่าว
ในขณะที่ รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง นักวิชาการจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. กล่าวว่า คำว่า CSR คือความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคมมันมีความหมายอยู่สองนัย นัยแรกเป็นเรื่องของการกุศล นัยที่สองเป็นการควบคุมกำกับหรือก้าวหน้าเรื่องของการกุศล มันเป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้น เนื่องจากความถนัดของภาคธุรกิจ ถ้าคุณจะทำธุรกิจแล้วสังคมมันอ่อนแอลง แล้วใครจะมีเงินมาซื้อของของพวกคุณ เพราะฉะนั้นพวกคุณต้องทำให้สังคมมันอยู่ได้ อย่างน้อยก็ต้องแบ่งกำไรออกไปให้กับสังคม เพราะสังคมมันเป็นนิเวศน์อันหนึ่ง ของการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นต้องทำให้สังคมยั่งยืน แต่วิธีการคิดแบบนี้คือวิธีการคิดแบบการกุศล คือไม่ใช่ความใจบุญของเขา เหมือนกับตอนนี้รัฐบาลกำลังทำการกุศลกับพวกเราอยู่ เป็นความใจดี ของรัฐบาลที่ทำโน้นทำนี่ให้เรา เดี๋ยวก็แจกแพ็กเกจอันนั้นอันนี้มา
“ ทางทฤษฎีแล้วบริษัทเหล่านี้ตั้งขึ้นมา ตามกฎหมาย การควบคุมนี้ก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขัน การเก็บภาษี ก็เอาภาษีเข้าไป ถ้าคุณทำ ตามกฎหมาย ทำตามธุรกิจ ทำตามระเบียบวินัย คุณก็ทำได้ เช่น เซ็นทรัลที่ขอนแก่น ที่เขาเสียภาษีตอนนี้ เช่น ภาษีเงินได้ภาษีธุรกิจ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีสิทธิที่จะเก็บภาษีที่เขาเก็บอยู่ตอนนี้ไหม ซึ่งภาษีเหล่านี้ ไปที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด รัฐบาลกลางก็เอาไปแบ่งกัน แล้วก็กระจายกลับมาเท่าไรก็ว่ากัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่พูดถึงเรื่องการควบคุมกำกับธุรกิจที่ไม่ใช่เรื่องการกุศล ไม่ใช่เรื่อง CSR ไม่ใช่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมันควรจะมีอยู่แล้ว”รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าว
ด้านน.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่อง CSR โดยเฉพาะนิยามต่าง ๆ เพราะมันมีหลายคำที่เกิดความสับสน และบางบริษัทก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสับสนด้วย เพราะใช้ในความหมายที่อาจจะไม่ตรงกัน CSR ในลักษณะที่หลาย ๆ คนคงเข้าใจ เช่น เรื่องของการเลี้ยงเด็กกำพร้า การปลูกป่า ภาษีโรงเรียนอะไรต่าง ๆ ถือเป็นกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งในกรอบของมาตรฐานสากล ถ้าพูดถึง CSR ก็จะมีกรอบมาตรฐานที่อ้างถึง เช่น วันนี้ก็จะมีมาตรฐาน ISO เป็นมาตรฐาน โดยสมัครใจ เมื่อไม่นานมานี้ก็มี SEG ซึ่งเป็นมาตรฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกาศ โดยสหประชาชาติ ประเทศไทยก็ไปรับเป็นภาคี เพราะฉะนั้นมันก็จะมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง กับความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตามในภาพที่เราเห็นกันอยู่ในประเทศไทย คือ กิจกรรม CSR ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทต้องทำในภาคใหญ่ แต่แน่นอนที่สุดภาคของการทำกิจกรรม CSR เป็นมาตรฐานสากล ก็จะจัดกันอยู่ในหมวดของการคืนกำไรสู่สังคมหรือการร่วมพัฒนาชุมชน ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในแปด หนึ่งในเก้า หรือหนึ่งในสิบที่มีการทำ CSR ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องทำ แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องทำ
พูดถึงการทำ CSR ในแวดวงธุรกิจไทย ก็จะใช้คำว่า CSR ที่คุณทำโดยที่ไม่ต้องดูเลยว่าประกอบกิจการอะไร วิธีคิดของเรื่องนี้ คือเช่น บริษัทเราไปเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือว่าไปทาสีโรงเรียน เราต้องรู้ไหมว่าเขาทำกิจกรรมอะไร เราต้องรู้หรือบางทีก็ไม่ต้องรู้ก็ได้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจน้ำมัน หรือว่าทำธุรกิจเหมือง ก็ทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ คือมันไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลยกับการประกอบธุรกิจ ดังนั้นเวลาทำกิจกรรมอะไรเหล่านี้ มันไม่สามารถที่จะไปสะท้อนความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจหลักได้ เพราะมันเป็นแค่กิจกรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลัก ดังนั้นแรงจูงใจของธุรกิจ เขาทำทำไม แน่นอนว่าหลาย ๆ บริษัทเขามองว่าเขาต้องทำกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อดึงและรักษาความสัมพันธ์กับชุมชนให้ดี คือให้ชุมชนมองเขาในแง่ดีว่าเขาเป็นพลเมืองดี ช่วยเหลือ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ในเรื่องของภาพลักษณ์
แต่อย่างไรก็ตามการทำ CSR ในความหมายของมาตรฐานสากลต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่บริษัท แสดงว่าเขาสร้างปัญหาอะไรบางอย่าง เขาถึงได้ทำ CSR เพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตนเอง ซึ่งการทำ CSR เป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทใหญ่ ๆ ต้องทำ”น.ส.สฤณีกล่าว