ศูนย์วิจัยธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2563
ศูนย์วิจัยธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2563
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2563 ทั้งข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาว แวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาขายอยู่ที่ 13,668 - 13,976 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.04 - 2.29 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ประกอบกับสต็อกของผู้ประกอบการ ไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศและการส่งออก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาขายอยู่ที่ 7.96 -8.08 บาท/กก. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.00 - 2.50 เนื่องจากเป็นช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ในช่วงฤดูแล้ง (ปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) ทำให้ปริมาณผลผลิตในตลาดมีน้อย
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาขายอยู่ที่ 13.50 - 13.64 เซนต์/ปอนด์ (8.99 - 9.09 บาท/กก.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก เดือนก่อนร้อยละ 1.00 - 2.00 เนื่องจากยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลตลาดโลกในฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่มีแนวโน้มลดลง จากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณสต็อกน้ำตาลโลกคงค้างอยู่ประมาณ 80 ล้านตัน และในปี 2562/63 รัฐบาลอินเดียอุดหนุนผู้ส่งออกน้ำตาล 6 ล้านตัน ยังเป็นปัจจัยกดดันให้ทิศทางราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก
ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 38.54 - 38.61 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.03 - 0.20 เนื่องจากภาครัฐเตรียมดำเนินโครงการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ จำนวน 30 ล้านใบ มูลค่า 18,000 ล้านบาท เพื่อช่วย ดูดซับผลผลิตยางพาราออกจากระบบจำนวน 150,000 ตัน ประกอบกับปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราสำคัญ ทำให้อุปทานออกสู่ตลาดลดลง
ปาล์มน้ำมัน ราคาขายอยู่ที่ 4.88 - 5.08 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 7.25 – 11.65 เนื่องจากเป็นช่วงต้นปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้อย ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับมีมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบได้ค่อนข้างมาก
สุกร ราคาขายอยู่ที่ 62.00 - 64.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.75 – 4.83 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับการส่งออกขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการเนื้อสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบภาวะขาดแคลนสุกรจากปัญหาโรค อหิวาต์แอฟริกา (ASF)
และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาขายอยู่ที่ 150 – 160 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 1.35 – 8.10 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้กุ้ง เติบโตช้า ส่งผลให้ปริมาณกุ้งเข้าสู่ตลาดน้อยลง
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง คือ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาขายอยู่ที่ 7,625 - 7,633 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.93 - 1.04 เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่สกุลเงินประเทศคู่แข่งขันอ่อนค่าลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ประเทศเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา
ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาขายอยู่ที่ 13,142 - 13,507 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.16 -2.86 เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และความต้องการนำเข้าของประเทศฮ่องกงมีแนวโน้มลดลงจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเทศกาลคริสต์มาส โดยในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2562 มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยไปฮ่องกงลดลงร้อยละ 13.33
และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.93 - 1.98 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 3.02 เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่การส่งออกไปต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ราคา มันสำปะหลังภายในประเทศลงต่ำลง