โรคปลาในหน้าหนาว
คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก [email protected]
สวัสดีปีใหม่ครับ.. ต้อนรับสู่การทำงานเต็มที่ในปีนี้นะครับ
ที่ผ่านมาเราคุยกันถึงเรื่องสุนัขมากเป็นพิเศษ ตามติดด้วยเรื่องของแมวและเรื่องราวตามสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงและคน ครั้งนี้เราจะมาคุยกันถึงการเลี้ยงปลาในหน้าหนาว เพราะอากาศในหลายพื้นที่ยังหนาวเย็นและที่ผ่านมาอากาศเย็นมาก คนเลี้ยงปลาประสบปัญหากันมากพอสมควร โดยเฉพาะนักเลี้ยงปลามือใหม่
เรามารู้จักโรคของปลาที่มักจะระบาดในหน้าหนาวกันนะครับ
โรคอียูเอส (EUS) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อคล้ายราและยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่โรคจะดีขึ้นหากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น สิ่งที่สังเกตเห็นได้คือปลาจะมีแผลลึกตามตัวและส่วนหัว ในแผลจะมีเส้นใยเชื้อราฝังอยู่ สามารถพบได้ในปลาธรรมชาติและปลาเลี้ยง ถ้าหากเลี้ยงในบริเวณบ้านมีความมิดชิดก็จะสามารถช่วยลดปัญหาได้ แต่ถ้าเลี้ยงในที่โล่งบริเวณกว้างการช่วยเรื่องอุณหภูมิก็ทำได้ยาก
สำหรับโรคไวรัสเคเอชวี พบมากในปลาคาร์พและปลาไน ลักษณะคือปลาจะซึมและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีแผลเลือดออกตามลำตัวและท้อง ถ้าหากปลาติดเชื้อรุนแรงเหงือกจะเน่าเห็นเป็นคราบสีขาวอมเหลือง โดยปลาจะเสียการทรงตัวขณะว่ายน้ำ และลอยชูหัวอยู่ใกล้ผิวน้ำและตายอย่างช้าๆ แบบทยอยตายไปเรื่อยๆ โรคไวรัสเคเอชวี เป็นโรคที่ไม่มียารักษาเช่นกัน ควรระวังการนำเข้าพันธุ์ปลาและต้องผ่านการกักกันโรคก่อน แต่เมื่อเป็นโรคให้รักษาตามอาการ
ส่วน โรคตัวด่าง มักเกิดกับปลาหลังการขนส่ง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงมาก ปลาจะมีแผลด่างขาวตามลำตัว เมื่อเป็นแล้วจะตายเป็นจำนวนมากภายใน 1-2 วัน การรักษาทำได้โดยใช้ด่างทับทิม 1-3 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ปลานาน 24 ชั่วโมง
การจะเลี้ยงปลาควรเลือกช่วงเวลาและพันธุ์ปลาที่เหมาะสม ปลาที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดต่ำ เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาไม่มีเกล็ด ห้ามไม่ให้น้ำที่มีเชื้อนี้ปะปนเข้ามาโดยเด็ดขาด
ในระหว่างที่เปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ได้ ให้ลดอาหารและเสริมวิตามินซี หรือถ้าเห็นว่าน้ำในบ่อเริ่มเน่าเสียให้ใช้เกลือโรยช่วยได้ ส่วนปริมาณที่เหมาะสมควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำนะครับ เพราะสัตวแพทย์ก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางครับ
ส่วนคนเลี้ยงปลาควรจะต้องทำอย่างไรในช่วงหน้าหนาว เพื่อให้ปลาไม่ป่วยไม่ตายก็มาติดตามกันครับ วันนี้ขอบคุณข้อมูลจากกรมประมงนะครับ