ข่าว

กปน.เล็งย้ายจุดสูบน้ำดิบประปา​ จากสำแลไปบางไทร​

กปน.เล็งย้ายจุดสูบน้ำดิบประปา​ จากสำแลไปบางไทร​

06 ม.ค. 2563

ผู้ว่ากปน. เผย​วางแผนย้ายจุดสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำแล​ ร้อยกว่าปี ตั้งแต่สมัย ร.5 ไปอยู่บางไทร​ อยุธยา​ เลี่ยงปัญหาน้ำเค็มรุก​ จากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

 

 

          นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำเค็มเข้ารุกมาถึงสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปาสำแล​ จ.ปทุมธานี​ ทำให้ต้องหยุดสูบบางช่วง​ และใช้น้ำดิบสำหรับผลิตประปา​ จากน้ำเจ้าพระยาให้น้อยลง​ โดยปรับมาใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลองที่ผันเข้ามาเพิ่มให้มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้แจ้งประชาชนไปแล้วว่าน้ำประปาจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัญหาน้ำเค็มรุก โดยให้กลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคไต​ เบาหวาน​ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา แต่ยืนยันว่าน้ำประปายังมีคุณภาพ ยกเว้นค่าความเค็มที่บางช่วงอาจเกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร​ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่วันนี้ความเค็มยังไม่เกินค่ามาตรฐาน

 

          ผู้ว่าการประปานครหลวง ยอมรับว่าการที่น้ำเค็มรุกเข้ามาถึงจุดสถานีสูบน้ำดิบ​ ทำให้มีต้นทุนในการผลิตน้ำประปาสูงขึ้น​ จากค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ​ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น​ จะการสูบไม่ต่อเนื่อง​ ส่วนค่าปรับคุณภาพของน้ำประปา​ การประปาส่วนนครหลวง​ ต้องแบบรับต้นทุนนี้มานานแล้ว​ เนื่องจากคุณภาพน้ำดิบที่เป็นอยู่ค่อนข้างต่ำ​ มีสาหร่าย​ จำนวนมาก​ แต่ยังไม่มีนโยบายขึ้นค่าน้ำประปาแต่อย่างใด 

 

         นอกจากการใช้น้ำจากแม่น้ำแม่กลอง สำรองไว้ผลิตน้ำประปาแล้ว อีกมาตรการ​ระยะสั้น​ คือเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ผลิตน้ำประปา 4 จุด ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำบางเขน​ สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี​ สถานีสูบจ่ายน้ำลาดกระบัง​ และสถานีสูบจ่ายน้ำสำโรง รวมกันจะมีกำลังการผลิต 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

 

          ส่วนแผนระยะกลาง​ ระยะยาวได้วางแผนย้ายสถานีสูบน้ำดิบผลิตน้ำประปา​ จากสถานีสูบน้ำสำแล​ จ.ปทุมธานี ซึ่งตั้งมาเป็นเวลากว่า 100​ ปีตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ รัชกาล​ที่​ 5​ แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง​ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาจทำให้มีความจำเป็นต้องย้ายจุดสูบน้ำดิบขึ้นไปอีก​ 20​ กิโลเมตร​ เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำเค็มรุกล้ำ​ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี​ โดยจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้วเป็นเป้าหมายคือ บริเวณอำเภอบางไทร​ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา​ ซึ่งการย้ายจุดสูบน้ำดิบดังกล่าว​ จะเกิดขึ้นในแผน​ ระยะเวลา 3 -​ 5 ปีใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท