ครม.ถกแก้ปัญหาภัยแล้งไฟเขียว 3 พันล. เจาะบาดาลสู้
ครม.ทุ่มงบกลางกว่า 3 พันล้านแก้ภัยแล้ง ขุดบ่อบาดาล-หาแหล่งน้ำผิวดิน นายกฯขอประหยัดน้ำวันละ 1นาที
ความคืบหน้าการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มี 14 จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งไปแล้วนั้น ขณะเดียวกันน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปามีรสกร่อยเนื่องจากน้ำทะเลหนุนเข้ามาสูงจนมีการเตือนให้ผู้มีโรคประจำตัวระมัดระวังในการนำไปใช้อุปโภคบริโภคนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงการตั้งวอร์รูมน้ำ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบให้ตนเตรียมการในแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจะดำเนินการทำน้ำใต้ดินและบนดินไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบาดาล ซึ่งได้ของบกลางประมาณกว่า 3 พันล้านบาท ขุดบ่อน้ำบาดาลไว้สำหรับช่วยเหลือชาวบ้านทั่วทั้งประเทศจำนวน 500 บ่อ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม เพราะเพิ่งได้รับงบประมาณในวันนี้(7 ม.ค.) โดยให้ทหาร มหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เนื่องจากบูรณาการงานร่วมกัน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า การเจาะน้ำบาดาลเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากงบกลาง 3,079 ล้านบาท เพื่อใช้ในการบรรเทาปัญหาตามที่ ทส.เสนอ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) จำนวน 1,100 ล้านบาท และพื้นที่นอกความดูแลของกปภ. 1,900 กว่าล้านบาท ส่วนการเจาะบ่อบาดาลรวมอยู่ในส่วนของพื้นที่นอกความดูแลของกปภ. มีจำนวน 1,100 โครงการที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน ซึ่งใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดูแล 704 โครงการ กองทัพบก 209 โครงการ และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 187 โครงการ ทั้งนี้ปริมาณงานทั้งหมดจะเป็นการเจาะใหม่และการซ่อมแซมระบบน้ำประปารวมถึงหาแหล่งน้ำจากผิวดิน ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ จึงขอฝากประชาชนว่าฤดูแล้งครั้งนี้เราจะฝ่าฟันไปด้วยกันโดยรัฐบาลออกนโยบายต่างๆ มาดูแลและบรรเทาความเดือดร้อน
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า นอกพื้นที่ของกปภ.และที่มีความเสี่ยงปัญหาเรื่องประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้านมี 43 จังหวัด สำหรับในส่วนของการประปานครหลวง(กปน.)ก็มีปัญหาน้ำกร่อยที่มีปริมาณเกลือในน้ำมากซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพของผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โดยในเรื่องนี้ได้มอบหมายให้กปน.ประสานงานกับกรมชลประทาน ซึ่งได้ปล่อยน้ำจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำป่าสักลงมาโดยปล่อยน้ำจากเขื่อนชัยนาท 80 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และปล่อยน้ำจากแม่น้ำแม่กลองออกมาอีก 20 กว่าลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้จะสามารถดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึงสถานีสูบน้ำประปาสำแล จ.ปทุมธานี ได้ อย่างไรก็ตามในบางช่วงจะมีประชาชนไปสูบน้ำซึ่งหากไปสูบในช่วงที่น้ำทะเลหนุนขึ้นมาจะทำให้ปริมาณเกลือที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลจะขึ้นไปสูง จึงอยากจะสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบว่าการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆ เพื่อให้อยู่ได้ถึงเดือนกรกฎาคมโดยเน้นอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ฉะนั้นเกษตรกรต้องช่วยกันอย่าสูบน้ำขึ้นมาทำนาที่จะต้องใช้ปริมาณน้ำมาก
“ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 7-10 มกราคมนี้ ทางกรมชลประทานจะปล่อยน้ำมามากกว่าปกติ ซึ่งจะมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงที่น้ำขึ้นพอดีคือวันที่ 13 มกราคม ซึ่งประชาชนเองก็ต้องช่วยกันประหยัดน้ำเพราะยังเหลืออีกหลายเดือนกว่าฝนจะตก” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว และว่า ส่วนผลกระทบภัยแล้งที่เกิดขึ้นต่อการทำมาหากินของประชาชนทางรัฐบาลก็มีแนวทางช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยเมื่อประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งก็จะสำรวจความเสียหายโดยประชาชนที่ประสบปัญหาด้านอาชีพและการทำมาหากินโดยเฉพาะผู้ที่ทำการเกษตรจะมีแผนการด้านการจ้างงานที่จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้บริหารน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและเพื่อดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบระบบประปาของกปน. โดยจะเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพระราม 6 อีกเพื่อดันน้ำเค็ม และผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมาช่วยในช่วงน้ำทะเลหนุน สำหรับการผันน้ำลุ่มแม่กลองมาไล่น้ำเค็มจะผันผ่านประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ สูบน้ำ 13 เครื่อง รวมปริมาณน้ำ 39 ลบ.ม.ต่อวินาที และผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 สูบน้ำ 8 เครื่อง ปริมาณน้ำ 24 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้เดินเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 54 เครื่อง สำหรับประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จะเปิด-ปิดตามจังหวะน้ำขึ้นและน้ำลง
ขณะเดียวกันพิจารณาจะใช้คลองพระพิมล ที่เป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผันน้ำเข้าไปเติม ผลักดันน้ำเค็มได้อีกทางหนึ่งแต่การผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านคลองต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมรอบข้างอาจมีการลักลอบสูบน้ำไปใช้ จึงวอนขอเกษตรกรให้สงวนน้ำไว้ใช้เพื่อผลักดันน้ำเค็มและเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น โดยหลังจากหมดช่วงน้ำทะเลหนุนสูงไปแล้วก็จะลดปริมาณระบายน้ำลงเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป
ขณะที่นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)กล่าวว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 14 จังหวัด รวม 69 อำเภอ 420 ตำบล 3,785 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็นภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ รวม 22 อำเภอ 125 ตำบล 965 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา รวม 31 อำเภอ 215 ตำบล 2,151 หมู่บ้าน 20 ชุมชน ส่วนภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี รวม 16 อำเภอ 80 ตำบล 649 หมู่บ้าน
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ประหยัดสู้ภัยแล้ง โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารการประปานครหลวง(กปน.) ได้เชิญชวนนายกฯ ปิดหัวจ่ายน้ำเพื่อเป็นต้นแบบในการใช้น้ำอย่างประหยัดและลดปริมาณการใช้น้ำเพื่อเป็นต้นแบบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่อยู่ระหว่างการแก้ไขน้ำประปากร่อยอาจใช้วิธีการต้ม พร้อมขอร้องให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ หรือใช้น้ำให้น้อยลงระหว่างการปฏิบัติภารกิจก็ขอให้ปิดก๊อกน้ำก่อน เช่น เข้าห้องน้ำ แปรงฟัน แค่ประหยัดน้ำคนละ 1 นาทีต่อวันต่อคน ก็จะประหยัดได้ถึง 9 ลิตร หากคำนวณจากประชาชนในกรุงเทพฯ 10 ล้านคน ก็จะประหยัดน้ำได้ถึง 100 ล้านลิตร ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดน้ำแล้วยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตน้ำประปาด้วย
ด้านนายนิพนธ์ ได้เชิญชวนประชาชนร่วมกันประหยัดน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดหน้าแล้งนี้ อีกทั้งเพื่อสงวนน้ำต้นทุนของประเทศ พร้อมมีน้ำไปช่วยผลักดันน้ำเค็มรักษาระบบนิเวศ นอกจากทุกคนจะช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดในชีวิตประจำวันแล้ว ขอให้หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์การใช้น้ำภายในบ้านและรีบซ่อมแซมเมื่อพบปัญหาแตกรั่วซึม
วันเดียวกัน นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ได้ใช้น้ำก้นอ่างมาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 จนขณะนี้ใช้ติดลบไปแล้ว 97.81 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำแค่ 483.86 ล้านลบ.ม. หรือ 19.9% ของความจุ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้ามาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ โดยต้องหยุดผลิตกระแสไฟฟ้าไปจนกว่าระดับน้ำจะเพิ่มถึง 500 ล้านลบ.ม. จึงจะสามารถกลับมาเดินเครื่องได้ จึงอยากขอให้ทุกคนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดแม้ว่าน้ำจะไม่หมดแต่ก็เหลือน้อยมาก ซึ่งคาดว่าจนถึงเดือนพฤษภาคมน้ำจะเหลือประมาณ 200 ล้านกว่าลบ.ม.เท่านั้น เพราะน้ำปีนี้ถือว่าเข้าอ่างน้อยที่สุดในรอบ 53 ปี
ด้านนายธนากร อึ้งจิตไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสว่างใจ หมู่ 7 บ้านวังข่า ต.วังดิน อ.เมืองอุตรดิตถ์ แหล่งเก็บกักน้ำฝนแห่งสุดท้ายของ ต.วังดิน ที่ยังพอมีน้ำสะอาดเหลือใช้งานร้อยละ 40 ของความจุ หรือประมาณ 288,000 ลบ.ม.จากความจุน้ำที่เก็บกักได้ 720,000 ลบ.ม. หลังได้รับรายงานชาวบ้าน 10 หมู่บ้าน กว่า 1,200 ครัวเรือนในพื้นที่ ต.วังดิน เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำดิบผลิตประปาไม่เพียงพอโดยได้ประสานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 (ปภ.เขต9) จ.พิษณุโลก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 2 เครื่องมายังแหล่งเก็บน้ำดิบของหมู่บ้านเพื่อให้สามารถผลิตน้ำประปาได้