ซ้อมสวนสนาม ทหาร-ตร.ในพิธีบรมราชาภิเษก
ซ้อมสวนสนาม ทหาร-ตร.ในพิธีบรมราชาภิเษก 10 กรมสวนสนาม เดินเท้า-รถเกราะ-รถถัง-จรวด-เครื่องบิน-เฮริลคอปเตอร์ เทิดเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งใหญ่
10 ม.ค.2563-ซ้อมสวนสนาม ทหาร-ตร.ในพิธีบรมราชาภิเษก 10 กรมสวนสนาม เดินเท้า-รถเกราะ-รถถัง-จรวด-เครื่องบิน-เฮริลคอปเตอร์ เทิดเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งใหญ่ หลังจากเว้นช่วงสวนสนามแสนยานุภาพมากว่า 20 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้กระทำการซ้อมพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร –ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และวันกองทัพไทยวันที่ 18 ม.ค.2563 ณ ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี โดยจะมีการซ้อมใหญ่วันที่ 16 ม.ค.นี้ก่อนพิธีจริง ทั้งนี้การจัดกำลังสวนสนามแบ่งออกเป็นกำลังภาคพื้น 10 กรมสวนสนาม และ 1 กองพันทหารม้า ประกอบด้วย 7 กรมสวนสนามเดินเท้า (กรมละ 4 กองพัน ), 2 กรมยานยนต์สวนสนาม และ 1 กองพันทหารม้า รวมถึงกำลังทางอากาศจำนวน 37 เครื่อง ประกอบด้วยหมู่บิน AU-23 บินปล่อยควันสีรูปธงชาติ ตามด้วยหมู่บินเฮริลคอปเตอร์ 4 เหล่าทัพ โดย บินหมู่ 6 และหมู่ 9 รวมถึงหมู่เครื่องบินรบ ทำการบินหมู่ 9 และ หมู่10
สำหรับการสวนสนามเทิดเกียรติฯ ครั้งนี้เหล่าทัพได้นำยุทโธปกรณ์เกือบทุกแบบที่มีประจำการเข้าร่วม ไม่ต่างจากสวนสนามแสนยานุภาพ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2539 ที่ลานพระราชวังดุสิต ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยุทโธปกรณ์ที่นำมาสวนสนามในส่วนของกองทัพบก เช่น ยานเกราะล้อยาง stryker BTR-3E1 รถถัง M60A3 ปืนใหญ่ 105มม.,155มม. ปตอ. 35 มม. รถบรรทุกจรวด จรวดหลายลำกล้อง รถถัง OPLOT รถถัง VT-4 กองทัพเรือ เช่น รถสะเทินน้ำสะเทินบก AAVP ยานเกราะล้อยาง BTR-3E1 จรวด TOW ปืนใหญ่ 155มม. กองทัพอากาศ เช่น เครื่องบิน F-5 ,F - 16, T-50 , Gripen JAS-39 และ เฮริลคอปเตอร์ แบบ EC 725
ทั้งนี้ VN-1 ยานเกราะล้อยางของจีน ที่ส่งมาถึงไทยเมื่อต้นเดือนธันวาคม ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการบรรจุเข้าประจำการ จึงยังไม่ได้เข้าร่วมสวนสนามในครั้งนี้ ในขณะที่ Stryker ยานเกราะล้อยางจากสหรัฐฯ ซึ่งเปิดตัว และเพิ่งเข้าประจำการมาพักใหญ่จะเข้าร่วมสวนสนามจำนวน 8 คัน
โดยเอกสารข่าวทหารบกฉบับล่าสุด ได้เผยแพร่บทความในคอลัมน์ "เขี้ยวเล็บกองทัพบกไทย" เรื่องการเสริมสร้าง พล.ร.11 ด้วยยานเกราะแบบ Stryker" โดยเนื้อหาระบุว่า การเสริมสร้างหน่วยกองพลทหารราบที่ 11 ( พล.ร.11 )นั้นกองทัพบก ได้กำหนดให้มีการจัดหน่วย (Stryker / M113 ) ในอนาคต ที่มีโครงสร้างการจัดหน่วยแบบกะทัดรัด ทันสมัย และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เป็นกองพลหน่วยกำลังรบต้นแบบของ ทบ.
โดยมีแนวความคิดการเสริมสร้างและจัดตั้งหน่วยกำลังรบหลักระดับกรมและกองพัน ให้เป็นหน่วยทหารราบยานเกราะเบา(Stryker /M113 ) ทั้งนี้การเสริมสร้างขีดความสามารถให้กำลังพลเพื่อรองรับการนำยานเกราะล้อยางดังกล่าวเข้าประจำการ ทาง พล.ร.11 จึงจัดอบรบหลักสูตรการฝึกผู้ปฎิบัติการประจำยานเกราะแบบ Stryker รุ่นที่ 2 (operator and new equipment Training :OPNET) และกำหนดให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ณ สหรัฐอเมริกา ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูฝึกให้กับเจ้าหน้าที่ครูฝึกจากประเทศสหรัฐฯ ทำการฝึกตั้งแต่ 11 พ.ย.-19 ธ.ค.62
เอกสารข่าว ทบ.ระบุว่า สำหรับแนวคิดในการเร่งเสริมสร้างและจัดตั้งหน่วยเพิ่มเติมให้ พล.ร.11 เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศในระยะยาว และเพื่อให้การพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ การรักษาความมั่นคงภายใน และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน และการบรรเทาภัยพิบัติในเขตพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั้งหมดนี้เป็นไปตามแนวความคิดในการปรับปรุงโครงสร้างทบ.เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ในส่วนของยุทธศาสตร์ความมั่นคง