คนไข้รักษาโรคงูสวัดผิดวิธี สุดท้ายติดเชื้อเกือบพรากชีวิต
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แชร์เคสรักษาคนไข้ที่เป็นโรคงูสวัดด้วยวิธีการผิด ๆ
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แชร์เคสรักษาคนไข้ที่เป็นโรคงูสวัดด้วยวิธีการผิด ๆ คือ ใช้การรักษาโดยการพ่นน้ำหมาก ซึ่งหมอเตือนว่าการรักษาลักษณะนี้เสี่ยงติดเชื้อและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยทีเดียว
ผอ.โรงพยาบาลสิชล ได้เล่าเรื่องราวดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
" #โรคงูสวัดเชื้อไวรัสขึ้นที่ศีรษะกกหูและลำคอ , #พ่นน้ำหมากไม่ได้ทำให้โรคหายเร็วขึ้น , #พ่นน้ำหมากความเชื่อที่ยังคงมีอยู่ ความรู้สุขภาพยามเช้าเป็นวิทยาทาน
ผู้ป่วยชายอายุ 58 ปี มาเมื่อ 7 วันก่อนมีอาการปวดหัว ปวดต้นคอข้างขวามาก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีไข้ ต่อมาอาการปวดรุนแรงขึ้น ปวดเสียวเข้าไปในกกหู เอี้ยวคอไม่ได้ จากเดิมที่ปวดเป็นพักๆ เป็นปวดตลอดเวลาจนนอนไม่หลับทรมานมาก ปรึกษาเพื่อนบ้านบอกว่า น่าจะเป็นอาการคอเคล็ดจากการนอนหัวตกหมอน ซื้อยาแก้ปวดแก้อักเสบมากินไม่ดีขึ้น อาการปวดย่างเข้าวันที่ 5 แทบไม่ได้นอน จึงลองไปนวดที่ร้านนวดไทย หมอนวดสังเกตเห็นผื่นแดงที่ศีรษะ ต้นคอ หลังหูยังไม่เป็นตุ่มน้ำใส
เช้าวันต่อมา ตุ่มน้ำขึ้นมาชัดขึ้นที่ต้นคอ หลังหู ลามมาถึงคอด้านหน้า วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ชาๆ เพื่อนบอกว่าเป็นโรคเริม ให้รีบไปพ่นน้ำหมากใส่แผลจะได้ไม่ลุกลามข้ามคอ ข้ามหัวไปอีกด้าน แถมยังพูดให้น่ากลัวอีกว่าถ้าข้ามฟากไปด้านซ้ายเมื่อใดอาจเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยก็ยิ่งตกใจกลัว รีบไปหาหมอบ้านพ่นน้ำหมาก ทั้งพ่น ทั้งทาดังที่เห็น และสั่งกำชับอีกว่าอย่าอาบน้ำนะ ต้องไม่ให้แผลโดนน้ำ แต่ก็ไม่หายปวด ส่องดูกระจกผื่นเริ่มข้ามตรงกลางคอมาบ้างแล้ว กลัวตายจึงรีบมาพบแพทย์ ได้ให้การรักษาด้วยการฉีดยาลดปวด ยาต้านไวรัส ยาแก้ปวด ยาลดอาการปวดเส้นประสาท ยากล่อมประสาทช่วยให้ได้นอนหลับบ้าง
ผู้ป่วยไม่ได้นอนมาแล้ว 6 คืน อิดโรยมากและที่สำคัญบอกให้รีบกลับไปอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดแผล เอาคราบน้ำหมากออกให้หมด อาบน้ำสระผมได้ตามปกติ แต่อย่าใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
นัดผู้ป่วยมาติดตามการรักษา อีก 2 วันถัดมาอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยถามแพทย์อยู่ประโยคหนึ่งที่สำคัญ "ผมไม่ตายแล้วใช่ไหมครับคุณหมอ" จึงบอกไปว่าคงไม่ตายแต่อาการปวดเสียวที่คอ กกหู อาการทางหู อาจจะยังคงมีอยู่ไปอีกระยะหนึ่งบอกไม่ได้ว่านานแค่ไหน ปวดเสียวเส้นประสาทเนื่องจากเชื้อตัวนี้เข้าไปอยู่ตามเส้นประสาททำให้เส้นประสาทถูกทำลายไปด้วย "
สำหรับโรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า "ไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus)" เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส เมื่อหายจากโรคสุกใสแล้วเชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อเวลาที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ เกิดการปวดตามแนวเส้นประสาท และปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้นประสาท
อาการของโรคงูสวัด ประกอบด้วย ปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง , ผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส มักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นเเถวยาว ตามแนวเส้นประสาทและจะแตกออกเป็นแผล ต่อมาจะตกสะเก็ด
นอกจากนี้อาการแทรกซ้อนของโรคงูสวัด ประกอบด้วย อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจปวดได้นานหลายปี การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม หรือ อาจมีตาอักเสบ แผลที่กระจกตาและภาวะแทรกซ้อนทางหูถ้าขึ้นบริเวณใบหน้า คอ
การรักษาและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
1.รับประทานยาต้านไวรัสภายใน 48-72 ชั่วโมง หลังเกิดอาการจะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้น และลดความรุนแรงของโรครวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
2.ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด
3.ประคบแผลด้วยน้ำเกลือครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้ง/วัน จะช่วยทำให้แผลแห้งดีขึ้น
ขณะเดียวกัน การป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัดนั้น ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอนของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยสามารถลดโอกาสการเกิดโรคงูสวัด หรือหากว่าเกิดการติดเชื้อจะสามารถลดความรุนแรงของอาการงูสวัด และอาการปวดหลังการติดเชื้อ แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
CR : Arak Wongworachat