หมออนามัยฮือขึ้นป้าย ไม่รับงานจาก 7 วิชาชีพ
ป้าย ไม่รับงานจาก 7 วิชาชีพ - ไม่รับนโยบายที่เกินหน้าที่ - กลัวทับซ้อน กลัวก้าวล่วง โผล่หน้า รพ.สต. หลายพื้นที่ หลังถูก 7 วิชาชีพคัดค้านออก ก.ม.ลูก
นายสมใจ สุดจิตร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นายาง อ.พิชัย อุตรดิตถ์ และเลขาอนุกรรมการมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน กล่าวถึงกรณีที่มีการขึ้นป้ายข้อความว่า "ไม่รับงานจาก 7 วิชาชีพ" "ไม่รับนโยบายที่เกินหน้าที่" "กลัวทับซ้อน กลัวก้าวล่วง" หน้า รพ.สต. ในหลายพื้นที่ ว่า
การขึ้นป้ายดังกล่าวเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์แสดงความอึดอัดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ เนื่องจากกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ถูกดองมากว่า 2 ปี อีกทั้งถูก 7 สภาวิชาชีพคัดค้านในเรื่องการบำบัดโรคเบื้องต้น กระทั่งมีหนังสือที่ลงนามโดยนายกของ 7 สภาวิชาชีพ ที่ใช้ถ้อยคำในเชิงว่าหมออนามัยไม่มีความรู้หรือไม่ควรจะมีตัวตน เป็นการทำลายสัมพันธภาพทางวิชาชีพ ทำให้หมออนามัยน้อยใจและอารมณ์ร่วมขึ้นมาทั่วประเทศ
นายสมใจ กล่าวว่า ตอนนี้ 7 วิชาชีพกำลังก้าวล่วงวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เพราะการออกกฎหมายลำดับรองเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ซึ่งการคัดค้านของ 7 วิชาชีพนั้นมีการคัดค้านตั้งแต่ขั้นตอนการแปรญัตติกฎหมายฉบับนี้
ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์คัดค้านไปแล้ว ปัจจุบันกฎหมายก็มีบังคับใช้แล้ว ทั้ง 7 วิชาชีพไม่มีสิทธิ์คัดค้านด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นการให้ความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หากไม่เห็นชอบก็อาจตีกลับหรือส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก็ได้ มีเพียง 2 แนวทางนี้ แต่ก็ถูกคัดค้านและกองกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขก็ดองเรื่องไว้ไม่ยอมส่งให้รัฐมนตรีพิจารณา
"เปลี่ยนรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน แต่เรื่องยังส่งไม่ถึงรัฐมนตรีสักบรรทัด รัฐมนตรีไม่เคยรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น" นายสมใจ กล่าว
นายสมใจ กล่าวอีกว่า การบำบัดโรคเบื้องต้นนี้ หมออนามัยทำมานานตั้งแต่อดีต บาง รพ.สต. ไม่มีพยาบาลเลย มีแต่หมออนามัยที่ต้องฉีดยา ทำแผล ทำทุกอย่าง
หรือหากใน รพ.สต. มีพยาบาล 1 คน ถ้าพยาบาลไปประชุมแล้วมีคนไข้ต้องเปลี่ยนสายให้อาหารหรือเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ ถ้าหมออนามัยทำตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่มีคนทำแล้ว ผลเสียก็เกิดกับคนไข้เอง ซึ่งสิ่งที่หมออนามัยต้องการคือความชัดเจนของขอบเขตการบำบัดโรคเบื้องต้นว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ตนเคยเสนอในที่ประชุมของทั้ง 8 สภาวิชาชีพให้มีการจัดทำคู่มือหรือไกด์ไลน์ว่าสิ่งที่หมออนามัยทำได้มีอะไรบ้าง แต่อีก 7 วิชาชีพ ก็ไม่ยอม จะให้ตัดคำว่าบำบัดโรคออกไปอย่างเดียวเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสารัตถะที่ถูกบัญญัติใน พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 แล้ว
"ตั้งแต่อดีตหมออนามัยไม่มีหลักประกันเลย แต่ถูกทำให้เชื่อว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขปี 2539 ว่าด้วยการมอบหมายให้ทำ แต่ประกาศนี้ไม่ได้คุ้มครองทางกฎหมาย ถ้าทำพลั้งพลาดไปก็มีความผิดฐานละเมิด นี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องการให้มีกฎหมายพิงไว้ ว่าขอบเขตไหนทำได้ ทำไม่ได้ เพื่อสร้างมาตรฐานโดยองค์กรวิชาชีพของเราเอง ไม่รู้ว่าทำไมต้องค้าน" นายสมใจ กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ตัวแทนสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนเคยทำหนังสือขอเข้าพบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรี มาเป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยจะมีการประชุมร่วมระหว่างสภาการสาธารณสุขชุมชนและอีก 7 วิชาชีพ ในวันที่ 31 มกราคม 2563 นี้ เพื่อหาข้อยุติ ซึ่งนายสมใจประเมินว่าคงไม่มีอะไรคืบหน้า และกระบวนการนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องด้วยซ้ำ เพราะการออกกฎหมายรองเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลัก คือต้องส่งให้รัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจให้ความเห็นว่าจะทำอย่างไรต่อ
อย่างไรก็ดี นายสมใจ กล่าวว่า การขึ้นป้ายหน้า รพ.สต. ในครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในทางปฏิบัติก็จะให้บริการเหมือนเดิมโดยจะไม่มีการนำประชาชนมาเป็นตัวประกันแต่อย่างใด
อ่านข่าว - ยังไม่ชัดอัตราเสียชีวิต ไวรัสโคโรน่า มากน้อยกว่าซาร์ส-เมอร์ส
--------------------
ที่มา : hfocus.org