เปิดข้อมูลน่าตกใจ PM 2.5 ทำลายเศรษฐกิจมหาศาล
นักเศรษฐศาสตร์ เผยมลพิษฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล คำนวณจากต้นทุนความเสียหายทางสังคมตามหลักเศรษฐศาสตร์ ประชากรเจ็บป่วย ตายก่อนวัยอันควร
28 มกราคม 2563 นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์เผยมลพิษฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก คำนวณจากต้นทุนความเสียหายทางสังคมตามหลักเศรษฐศาสตร์ ประชากรเจ็บป่วย ตายก่อนวัยอันควร จำนวนนักท่องเที่ยวลด แนะวางมาตรการทั้งระยะสั้น-ยาวแก้ปัญหา โดยเน้นสร้างแรงจูงใจทางบวกที่ได้ผลมากกว่าการบังคับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลดปัญหาฝุ่นละอองต้องใช้มาตรการสมัครใจ
นายวิษณุ อรรถวาณิช อาจารย์คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีผลการศึกษาความเสียหายของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพในต่างประเทศได้มีการศึกษาไว้ ได้แก่ บราซิลพบว่าการเผาไร่อ้อยจะทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาด 10 ไมครอน (PM10) เพิ่มขึ้น 26-34% และโอโซน (O3) เพิ่มขึ้น 7-8% ในรัศมี 50 กิโลเมตร
หากมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับมลพิษจากการเผาไร่อ้อยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดจะทำให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม คลอดก่อน 32 สัปดาห์ (น้อยกว่า 8 เดือน) ทารกมีขนาดเล็กกว่าปกติ 12% และเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ (17 คน ใน 1000 คน) ซึ่งลักษณะการเผานี้เกิดขึ้นในไทยเช่นกันเนื่องจากนิยมเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 85.8 ล้านไร่
ทั้งนี้ปีเพาะปลูก 2559/2560 พบว่า การเผาในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและข้าวนาปีมีสูงถึง 57% และ 29% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวตามลำดับ ขณะที่พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการเผาประมาณ 47% และ 34% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวตามลำดับ นอกจากนี้ไทยมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศ 31,173 คน และ 48,819 คน ในปี 2533 และ 2556 ตามลำดับ อีกทั้งมลพิษทางอากาศก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์สูงถึง 210,603 และ 871,300 ล้านบาทในปี 2533 และ 2556 ตามลำดับ
นายวิษณุ กล่าวว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้น คนไทยจึงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการรักษาพยาบาล ซื้อเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ ยังส่งผลลบด้านอื่นโดยเฉพาะการท่องเที่ยว มีการศึกษาผลกระทบของวิกฤติหมอกควันในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวนลดลงในช่วงเวลาที่มลพิษทางอากาศรุนแรงและบางรายระงับหรือเลื่อนการท่องเที่ยวตามแผนที่กำหนดไว้
สำหรับประเทศไทยภาคการท่องเที่ยวเป็นกลจักรสำคัญในการสร้างรายได้ให้ประเทศอาจได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเช่นกัน หากระดับมลพิษมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะในช่วงธันวาคมถึงมีนาคมที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวตะวันตกและชาวเอเชีย
นายวิษณุ กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ไทยต้องให้ความสำคัญด้านการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมน้อยมากขึ้น โดยงบประมาณปี 2562 รัฐจัดสรรงบด้านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.4% ต้องเปลี่ยนแปลงค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้น โดยไทยเริ่มกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศปี 2538, 2547, 2550, 2552 และ 2553 และยังไม่มีการปรับปรุงหลังจากนั้น เก็บภาษีรถเก่าในอัตราที่ต่ำกว่ารถใหม่ ทำให้มลพิษเพิ่มขึ้น
เนื่องจากรถเก่ามีการปลดปล่อยมลพิษที่มากกว่ารถใหม่ ต้องมาตรฐานไอเสียและน้ำมันให้สูงขึ้น ไทยมีการใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมันยูโร 4 (EURO4) ในรถบรรทุกขนาดเล็กตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่มีการใช้มาตรฐานยูโร 3 (EURO3) ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2553 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ประเทศอื่น ๆ อาทิ สหภาพยุโรป ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ใช้เวลาเพียง 3 ปี และประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้เวลาเพียง 4 ปี ในการยกระดับมาตรฐานไอเสียและน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5
แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการใช้มาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมลพิษอื่น ๆ แต่หากพิจารณาหลาย ๆ มาตรการจะพบว่ามีการใช้ในลักษณะบังคับ (Command and control) ได้แก่ มาตรการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง การใช้มาตรฐานไอเสียและน้ำมัน เป็นต้น ข้อเสียของมาตรการบังคับตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์คือ ทำให้เอกชนไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัวเพื่อปรับปรุงวิธีการผลิตให้ดีขึ้น ดังนั้น หากภาครัฐไม่มีนโยบายหรือเป้าหมายที่ชัดเจนเรื่องการยกระดับคุณภาพอากาศ เอกชนย่อมไม่มีความพยายามในการปรับตัวเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและกำไรลดลงเช่น การใช้กลไกภาษีส่งเสริมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างตลาดให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ไทยไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและคอยติดตามประเมินผลที่ผ่านมาหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม คือ กรมควบคุมมลพิษซึ่งไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะมักจะเกี่ยวกับกับกระทรวงอื่น ๆ เช่น หากมีการลักลอบปล่อยมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนไอเสียจากรถยนต์ขึ้นกับกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
สำหรับการลดมลพิษจากการเผาในที่โล่งแจ้งภาคเกษตรและป่าไม้ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) มี 6 มาตรการที่ควรนำมาใช้ ได้แก่ 1. ควรส่งเสริมการจัดระเบียบการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลียเกษตรกรรายใดจะเผาไร่ต้องลงทะเบียนแจ้งรัฐก่อน จากนั้นจะมีการทยอยเผาไม่ให้พร้อมกันในครั้งเดียว และจะเผาในช่วงที่อากาศไม่ปิด เป็นต้น และมีบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด
2. สร้างข้อตกลงเพื่อลดการเผาด้วยความสมัครใจร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาคเอกชนผู้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร และรัฐบาล โดยพิจารณาศึกษาประสบการณ์จากประเทศบราซิลซึ่งสามารถลดการเผาอ้อยได้สำเร็จผ่าน “ระเบียบการสีเขียว” (Green Protocol) 3. ควรเพิ่มแรงจูงใจที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรที่ไม่เผาผ่านการให้เงินอุดหนุนเนื่องจากการไม่เผามีต้นทุนในการจัดการแปลงมากกว่าการเผา โดยให้คิดว่าเป็นการโอนย้ายผลประโยชน์จากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการไม่เผาไปสู่ผู้ที่เสียประโยชน์ซึ่งก็คือเกษตรกร
4. ควรกำหนดการห้ามเผาในพื้นที่ใกล้ชุมชน 5. ควรบังคับใช้มาตรการห้ามเผาในพื้นที่ป่าไม้อย่างเคร่งครัดพร้อมวางระบบการแจ้งเหตุไฟไหม้ป่าและมีการดับไฟป่าอย่างทันท่วงที พร้อมสร้างฐานข้อมูลที่สามารถแยกแยะได้ว่าไฟเกิดขึ้นในที่ป่าหรือเกษตร 6. ควรส่งเสริมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าเพื่อลดการเกิดไฟป่า
ระยะกลาง (1-3 ปี) มี 5 มาตรการที่ควรนำมาใช้ ได้แก่ 1. ควรส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมักในทุกพื้นที่ พร้อมพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มกรณีไม่เผา ปัจจุบันทางกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการลักษณะแบบนี้อยู่แล้วแต่ได้รับงบประมาณน้อยและพื้นที่ครอบคลุมจำกัดจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์
2. ควรส่งเสริมการสร้างตลาดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคา ในทางเศรษฐศาสตร์มลพิษเกิดขึ้นเพราะไม่มีตลาดรองรับเหมือนสินค้าทั่วไป ปัจจุบันฟางข้าวบางส่วนจะถูกมัดเป็นก้อนเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการขายฟางข้าว 250-500 บาทต่อไร่ ขณะที่ต้องเสียค่าอัดฟางก้อนประมาณ 150-225 บาทต่อไร่ การทำในลักษณะนี้ยังไม่แพร่หลายทั่วประเทศ มีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นที่ใกล้กับแหล่งปศุสัตว์ ถ้าขยายตลาดรับซื้อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้
3. ควร เร่งส่งเสริมตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ให้แพร่หลายทั่วประเทศและเกิดการแข่งขัน พร้อมให้ความรู้กับเกษตรกรในการเตรียมแปลงให้พร้อมสำหรับเครื่องจักรกลที่จะนำมาใช้ การส่งเสริมดังกล่าวจะช่วยให้ราคาเช่าบริการเครื่องจักรเพื่อจัดการแปลงและเก็บเกี่ยวอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล 4. ควรส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูงและลาดชันที่เครื่องจักรกลไม่สามารถเข้าถึงได้ และ 5. ภาคป่าไม้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดป่าในการดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้ถูกเผาทำลาย
ส่วน “ผลกระทบภายนอกข้ามพรมแดน” ควรเจรจาขอความร่วมมือและสร้างข้อตกลงร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง พร้อมพิจารณาให้เงินช่วยเหลือควบคู่ไปด้วยเพื่อให้มีโอกาสนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติ โดยอาจพิจารณาระบุตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น จำนวนพื้นที่เผาที่ลดลง เป็นต้น สำหรับในระยะกลางและระยะยาว (ตั้งแต่ 1 ปี เป็นต้นไป) ควรพิจารณาเตรียมศึกษาและนำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป