ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก "บิ๊กตู่ - 5 รมต." ปัดดีล ภท. - ปชป.
"ฝ่ายค้าน" ยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี ตัด "สมคิด - อนุทิน - อุตตม" พุ่งเป้า นายกฯ "สมพงษ์" ปัดดีล "ภท. - ปชป." หวังผลรวมขั้วในอนาคต
พรรคร่วมฝ่ายค้านปรับโผรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกซักฟอกเหลือ 6 คน จากที่ตั้งแท่นไว้ 9 คน ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 5. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข 6. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 7. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง 8. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ 9. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
อ่านข่าว - บิ๊กตู่ เข้าทำเนียบฯ แล้ว หลังลาป่วยเป็นไข้
ล่าสุด วันที่ 31 มกราคม 2563 ที่ รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน อีก 5 พรรค ได้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ , นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ , พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย , นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนชาวไทย ได้ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา
ทั้งนี้ นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขอเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 151 ตามรายนามดังต่อไปนี้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 4. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ 6. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยมีพฤติการณ์ซึ่งจะกราบเรียนต่อประธานในวันอภิปราย
ชวนขอ 7 วันตรวจสอบก่อนเคาะวัน
ด้านนายชวน กล่าวว่า จะรับไปตรวจสอบความถูกต้องตามข้อบังคับ ถ้ามีอะไรที่ขาดตกบกพร่องก็ต้องแจ้งไปยังผู้เสนอภายใน 7 วัน และเมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วก็จะบรรจุเป็นวาระด่วน แต่ก่อนที่จะกำหนดวันประชุมเป็นวันไหนนั้น ต้องหารือกับทั้ง 2 ฝ่าย ถึงความพร้อมก่อน
เมื่อถามว่า เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วถือว่ายุบสภาไม่ได้แล้วใช่หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ตามกฎหมายรัฐบาลไม่สามารถยุบสภาได้ ส่วนการปรับ ครม. เป็นคนละเรื่องกัน
นายสมพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะมี ส.ส. ร่วมอภิปราย 20 - 30 คน ซึ่งรวมถึง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ แม้พรรคเศรษฐกิจใหม่ขอถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเนื่องจากอาจเห็นต่าง แต่ก็ไม่ตำหนิอะไร ส่วนกรณีที่ไม่มีชื่อรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นโอกาสที่อาจจะพลิกขั้วร่วมกันได้นั้น เป็นสิทธิ์ที่คิดได้ แต่รายชื่อรัฐมนตรีที่ยื่นนั้น เป็นการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนมีหลักฐาน โดยข้อมูลที่พิจารณาคือสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาหลายปี
“ผมไม่คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะคว่ำรัฐบาลได้ เพราะเสียงในสภาไม่พอ แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านคำนึงถึงคือข้อมูลที่จะสื่อสารไปยังประชาชนและให้ประชาชนตัดสินใจคว่ำรัฐบาล อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเลือกรัฐมนตรีที่อภิปรายจากข่าวที่ปรากฏและที่ยืนยันอย่างเป็นทางการที่ไม่มีชื่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไม่ใช่เพราะมีดีลกันทางการเมือง ที่ผ่านมาผมคุยกับ รมว.คมนาคม เพียงถามอาการถึงคุณพ่อของเขา (นายชัย ชิดชอบ) เท่านั้น แต่ยังไม่ทันพูดอะไรท่านก็กลับบุรีรัมย์แล้ว” นายสมพงษ์ กล่าว
ซัดผู้นำกร่างเถื่อนไร้ความรับผิดชอบ
มีรายงานแจ้งว่า สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่นายสมพงษ์ ยื่นต่อประธานสภา มีจำนวน 3 หน้า โดยบรรยายพฤติการณ์ของรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ดังนี้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง เป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู สร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ใช้งบประมาณของรัฐสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคการเมือง ลุแก่อำนาจ ขาดภาวะผู้นำ ล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจก่อให้เกิดสภาพ “รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นต้น
“บิ๊กป้อม - บิ๊กป๊อก - วิษณุ” ทำรัฐเสียหาย
2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่มีความชื่อสัตย์สุจริต ร่ำรวยผิดปกติ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง 3. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม บังคับใช้และตีความกฎหมายโดยไม่ยึดหลักการและบรรทัดฐานที่ถูกต้องจนทำให้รัฐเสียหาย 4. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ประจำของข้าราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง
“ดอน - ธรรมนัส” คุณสมบัติไม่เหมาะ
5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามครรลองที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทข้ามชาติ นำพาชาติเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 6. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ปกป้องพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ
ปรับแผนตัด รมต.เศรษฐกิจ ออก
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่มีการลดจำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายลงเหลือเพียง 6 คนนั้น เนื่องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านมองว่า จำนวนวันอภิปรายที่คาดว่าจะได้รับน่าจะอยู่ที่ 3 วัน หากต้องอภิปรายรัฐมนตรีมากถึง 9 คนจะทำให้การอภิปรายกระจัดกระจายและไม่เข้าเป้า ดังนั้น จึงตัดรัฐมนตรีที่ข้อมูลยังไม่แน่นมากนักออกก่อน แล้วค่อยรวบรวมข้อมูลใหม่เพื่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งหน้าแทน
ขณะที่ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ได้เสนอให้อภิปราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ด้วย โดยระบุว่ามีข้อมูลในลักษณะที่น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ประชุมจึงให้เสนอว่าจะมีใครที่จะเป็นผู้ร่วมอภิปรายบ้าง แต่ปรากฏว่ามีนายนิคมเพียงเสียงเดียว จึงเกรงว่าข้อมูลที่จะอภิปรายนั้นอาจจะไม่ครอบคลุมเพียงพอ ที่ประชุมจึงสรุปไม่เสนอชื่อนายอนุทินในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนที่ไม่มีชื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านตัดสินใจตัดชื่อออก เนื่องจากมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในครั้งนี้ จะเน้นที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลวเป็นหลัก ดังนั้น หากอภิปรายนายสมคิดและนายอุตตมย่อมสามารถชี้แจงในมุมของเศรษฐกิจได้อยู่แล้วและจะทำให้การชี้แจงของรัฐบาลดูมีน้ำหนักขึ้น จึงได้ตัดชื่อทั้ง 2 คนทิ้ง แล้วมุ่งอภิปรายไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหลัก
พุ่งเป้า “บิ๊กตู่” บริหารล้มเหลว
นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันว่า การอภิปรายครั้งนี้ประชาชนจะไม่ผิดหวัง โดยประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องชี้ให้สังคมเห็นคือ ความไม่ซื่อสัตย์ การบริหารงานที่ล้มเหลว และการเอื้อพวกพ้อง อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านจะยึดระเบียบการประชุม ไม่มีพาดพิงบุคคลใดให้เกิดการประท้วง ไม่ต้องส่งคนมาป่วน แต่ตอบคำถามให้ได้ก็แล้วกัน
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ การมุ่งประเด็นไปที่ผู้รับผิดชอบหลักของรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี เพราะในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กุมความรับผิดชอบทั้งการเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หัวหอกทางความมั่นคง และทางการเมือง เอาไว้หมด ทั้งนี้ ก็จะมีประเด็นความรับผิดชอบเฉพาะบุคคลที่จะมุ่งประเด็นไปที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่มีหลักฐานความผิดพลาด ความไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมร่วมอยู่ด้วย
นายปิยบุตร กล่าวสั้นๆ ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกของพรรคอนาคตใหม่ แต่เรามั่นใจในการทำการบ้านที่ได้ค้นคว้าข้อมูลอย่างเต็มที่
ล็อกเวลา 19 - 21 กุมภาพันธ์ ลงมติรุ่งขึ้น
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า จะอภิปรายไม่ไววางใจนายกรัฐมนตรีโดยตรง หมัดเด็ดคือเรื่องการถวายสัตย์ ที่หลายคนมองว่าจบไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงจะจบได้อย่างไร ในเมื่อเป็นเรื่องที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งการอภิปรายจะลงรายละเอียดมากกว่าที่เคยรู้กันกระทั่งส่งคนเข้ามาป่วนตนเพื่อให้ยุติญัตตินี้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นที่จะอภิปรายด้วย
ส่วน นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า สำหรับระยะเวลาที่จะอภิปรายเบื้องต้นที่หารือ ทราบว่าจะเริ่มต้นอภิปรายวันที่ 19 - 21 กุมภาพันธ์ จากนั้นจะปล่อยเวลา และลงมติวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ความเห็นของตนมองว่าวันเริ่มคือ 19 กุมภาพันธ์ นั้นเห็นด้วย แต่วันที่ปิดอภิปรายนั้นไม่อยากให้กำหนด เนื่องจากการอภิปรายดังกล่าวไม่ควรจำกัดเรื่องเวลา
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลจะดึงเวลาให้ไปอภิปรายในช่วงวันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ แล้วลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี้
“เศรษฐกิจใหม่” ร่อนหนังสือขอแยกวง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้พรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ส่งหนังสือถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องแจ้งผลมติในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เนื่องด้วยการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 มีมติที่ประชุมในพรรคเศรษฐกิจใหม่ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อทำงานอิสระตามแนวทางของพรรค ดังนั้นจึงขอแจ้งผลมติดังกล่าวให้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรทราบ
นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ จะแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว ส่วนท่าทีของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค คงต้องไปถามท่านเอง แต่ที่ออกไปคือมติของพรรค ซึ่งตนในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคมีหน้าที่ทำตามมติของพรรค
ด้านนายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อถูกฝ่ายค้านเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า สุจริต คือ เกราะบัง ศาสตร์พ้อง ปัญญาประดุจดัง อาวุธ กุมสติต่างโล่ป้อง อาจแกล้วกลางสนาม จากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ใครจะมาอภิปรายก็พร้อมชี้แจง
เสรีพิศุทธ์ มึนคำร้องงบ 63 ถูกยก
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แถลงถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องปมเสียบบัตรแทนกันของพรรคเสรีรวมไทย ว่าจากที่ได้ดูคำสั่งของศาลเหตุที่ไม่รับคำร้องเพราะพบว่า ส.ส. ที่ลงชื่อท้ายคำร้องไปซ้ำกับคำร้องของพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยในครั้งนี้ เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะลงชื่อท้ายคำร้องซ้ำกันไม่ได้ เพราะการยื่นคำร้องไม่เหมือนกับการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และคำร้องของตนก็มีชื่อของ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และไม่แน่ใจว่าการที่ศาลไม่รับคำร้องเป็นเพราะในคำร้องของตนมีการแนบเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบของ นายกฯ ซึ่งไม่เหมือนกับคำร้องของพรรคอื่น และเห็นว่าหากศาลวินิจฉัยอย่างนี้ ตนจะเอาชื่อของ ส.ส. ที่ไหนมาเพื่อไม่ให้ซ้ำ เพราะแต่ละคำร้องต้องใช้ ส.ส. ลงชื่อถึง 80 คน
“ผมจะยื่นคำร้องเพิ่มเติมกรณี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส. สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาแถลงยอมรับว่าเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายเพราะเป็นการรับสารภาพแล้ว” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีมีคลิปปรากฏภาพเสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ของ นายถาวร เสนเนียม ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท จะยื่นเพิ่มด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เพิ่งเห็นข่าวจึงยังไม่มีหลักฐาน และต้องให้เกียรติพรรคที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ที่จะต้องดำเนินการต่อไป
พลังท้องถิ่นไทไม่ตอบเสียบบัตรแทน
ด้านนายโกวิทย์ ชี้แจงกรณีพรรคอนาคตใหม่ออกมาเปิดเผยคลิปวิดีโอมีการเสียบบัตรแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ว่า เห็นการยื่นญัตติของสมาชิกพรรคการเมืองที่ให้สภาสืบสวนกรณีเสียบบัตรแทนกันแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และหากมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบเรื่องเสียบบัตรแทนกัน ก็ยินดีที่จะถูกตรวจสอบ เพราะเชื่อในกระบวนการของกรรมาธิการ
ส่วนกรณีที่ภาพออกมาว่ามีการเสียบบัตรแทนนั้น นายโกวิทย์ กล่าวว่า ไม่ขอชี้แจงใดๆ ในขณะนี้ ให้รอกระบวนการตรวจสอบ ผลการตรวจสอบจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ให้เป็นไปตามผลการตรวจสอบ ซึ่งในคลิปดังกล่าวนั้น ตนก็นั่งในที่นั่งของตน แต่ขอไม่ตอบว่าใช้บัตรของตนในการลงมติหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า บัตร 2 - 3 ใบที่เสียบในช่องลงคะแนนนั้นเป็นบัตรของผู้ใด นายโกวิทย์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร รอให้มีการตรวจสอบตามกระบวนการต่อไป และการแถลงข่าวครั้งนี้ ไม่ใช่การปฏิเสธหรือการยอมรับใดๆ