ชื่อบ้าน ๆ จัดจ้านด้วยสรรพคุณ
'มะเดื่อ' พืชทางเลือกกำไรงาม ปลูกง่าย ให้ผลผลิตยาว เจาะตลาดคนรักสุขภาพ
6 กุมภาพันธ์ 2563 นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “มะเดื่อ” (Fig Fruit) หรือ “มะเดื่อฝรั่ง” ได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคสินค้าปลอดสารเคมี (Organic Food)
รวมทั้งกลุ่มผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลมะเดื่อมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งทางการแพทย์มีการรับรองว่าผลมะเดื่อ มีส่วนช่วยป้องกันโรคนิ่วในไต ช่วยฟอกตับและม้าม และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เกษตรกรจึงนิยมปลูกในหลายพื้นที่ นับว่าเป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ของ สศท.5 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต และการตลาดมะเดื่อในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 50 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูก จำนวน 10-15 รายโดยเกษตรกรมีการปลูกมะเดื่อในลักษณะต่างคนต่างปลูก กระจายอยู่ทั่วไปในหลายพื้นที่ ได้แก่ อำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน และ ปักธงชัย เป็นต้น
เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี เหมาะสมต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโต ซึ่งการปลูกมะเดื่อในปัจจุบันเกษตรกร จะนิยมใช้กิ่งพันธุ์ตอนหรือกิ่งปักชำที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์เจแปนบีทีเอ็ม6 หรือ พันธุ์เหวยไห่ ราคาจะอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/กิ่ง หากพิจารณาถึงการผลิต พบว่า เกษตรกรมีต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มต้นปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 40,120 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 1 จนครบ 50 ปี จึงจะสิ้นอายุขัย) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 8 - 12 เดือน ผลผลิตเฉลี่ย 80 – 120 กก./ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,080 บาท/ไร่/ปี ราคาขายผลสุกอยู่ที่ 300 บาท/กก. ส่วนผลแห้งอยู่ที่ 1,000 บาท/กก.
ด้านการตลาด ส่วนใหญ่ร้อยละ 65 กลุ่มเกษตรกรจะจำหน่ายผลมะเดื่อ (ผลแห้งและผลสุก) และกิ่งพันธุ์ทางออนไลน์ผ่านเฟสบุ๊ค เช่น ฟาร์มหอมกลิ่นดิน และ Sixty six figs farm เป็นต้น รองลงมาร้อยละ 25 แปรรูปเป็นชามะเดื่อ และไวน์มะเดื่อ โดยลูกค้านิยมสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เช่นเดียวกัน ที่เหลือร้อยละ 10 เกษตรกรจะจำหน่ายผลมะเดื่อทั้งผลสุกและผลแห้ง ตามงานอีเว้นท์ที่หน่วยงานราชการจัดขึ้น อาทิ งานตลาดนัดเกษตรกร รวมทั้งกิ่งพันธุ์บางส่วนยังมีการจำหน่ายปลีกทางหน้าร้านของตนเองอีกด้วย
สำหรับจุดเด่นของผลผลิตนั้น เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เกือบทั้งหมด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในการบริโภคสินค้าปลอดสารเคมี (Organic Food) และผู้รักสุขภาพ นอกจากนี้ เกษตรกรยังนำผลมะเดื่อมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น ไวน์มะเดื่อ ชามะเดื่อ คุกกี้มะเดื่อ และมะเดื่ออบแห้ง เป็นต้น เกษตรกรสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 ปี 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดผู้บริโภคเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market)
ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะเดื่อในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการขายและขยายตลาดได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมะเดื่อในจังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร. 0 4446 5120 หรืออีเมล [email protected]