ข่าว

ฝ่ายค้านจี้"นายกฯ"ออกกฎหมายเอาผิดรัฐประหาร

ฝ่ายค้านจี้"นายกฯ"ออกกฎหมายเอาผิดรัฐประหาร

06 ก.พ. 2563

ฝ่ายค้าน หนุนตั้ง กมธ.ศึกษากันรัฐประหารผ่านออกกฎหมายเอาโทษหนัก "ปิยบุตร" บอกต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ, เร่งปฏิรูปกองทัพ

 

รัฐสภา - 6 กุมภาพันธ์ 2563 "วันนอร์" แนะเพิ่มแบบเรียนในสถาบันกองทัพ ตระหนักด้านประชาธิปไตย ปฏิรูปส.พระปกเกล้า สร้างทหารอาชีพ-เพิ่มเงินเดือนทหารชั้นผู้น้อย "ขจิตร" ท้า "นายกฯปัจจุบัน" ออกกฎหมายเอาผิดคนรปห. ให้สิทธิปชช.ต่อสู้ เพื่อปกป้องปชต. ด้าน "ส.ส.รบ." ค้าน เหตุมอง รปห. ห้ามไม่ได้

อ่านข่าว  "ปิยบุตร"ส่งสัญญาณจับตาอภิปรายญัตติต้านรัฐประหาร

 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคณะเสนอให้ สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต

 

 ทั้งนี้ในการอภิปรายตอนหนึ่งของนายปิยบุตร ย้ำให้เห็นความสำคัญต่อการศึกษาแนวทางป้องกันการรัฐประหาร เพื่อให้สภาแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของการต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยการศึกษาแนวทางที่ป้องกันการรัฐประหารในอนาคต ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นความกล้าหาญของสมาชิกสภาฯ ชุดที่ 25 ที่ต้องการมีแนวทางการรัฐประหาร นอกจากนั้นในแนวทางตัดตอนเส้นทางรัฐประหาร มีหลายวิธี คือ ปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องประชาธิปไตย, ให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือทหาร และออกกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่ให้สิทธิประชาชนคือผู้เสียหายจากการกบฎ และไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร ว่าาเป็นรัฐฎาธิปัตย์ และกำหนดบทลงโทษผู้ที่ทำรัฐประหาร

 

"การรัฐประหารต้องกำหนดให้ความผิดต่อมวลมนุษยชาติเป็นความผิดอาญาระหว่างประเทศ ต้องนำตัวไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ  แม้จะนิรโทษกรรมให้ตัวเอง แต่ก็ไม่รอดพ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ใครที่คิดจะปราบปรามประชาชนจะทำไม่ได้ แต่ประเทศไทยไม่ให้สัตยาบันในการรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากนั้นต้องปลุกจิตสำนึกประชาชน นักการเมือง ข้าราชการว่า หากมีการยึดอำนาจให้ประชาชน นักการเมือง ข้าราชการ พร้อมใจกันต่อต้าน และต้องขจัดมายาคติว่ารัฐประหารคือยาวิเศษ แต่คือความผิดที่ต้องช่วยกันต่อต้าน เพื่ออนาคตลูกหลานและประเทศ" นายปิยบุตร แถลงญัตติ

 

ขณะที่ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่ร่วมสนับสนุนญัตติดังกล่าวได้อภิปรายพร้อมเสนอแนะความเห็นที่ต้องการให้การศึกษาปรากฎผล อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ขอให้สภาฯ เปิดใจกว้างและนำไปสู่การศึกษาแนวทางป้องกันการรัฐประหารที่ โดยตลอดเวลา 40 ปีที่ตนเป็นนักการเมือง พบว่าการรัฐประหารโดยทหารที่ถืออาวุธ ซึ่งมาจากการอนุมัติงบประมาณของรัฐสภา และใช้ภาษีของประชาชนนั้นใช้ข้ออ้างการปฏิรูปการเมืองแต่ไม่เคยเห็นการปฏิรูปการเมืองที่จริงจังได้

 

อย่างไรก็ตามสถิติของการเกิดรัฐประหารในประเทศไทย เกิดขึ้นเฉลี่ย 7 ปีต่อ 1 ครั้ง ซึ่งในปีหน้าจะครบ 7 ปี จึงเป็นจุดวัดจิตสำนึกของของทหารที่ถืออาวุธ ทั้งนี้ตนสนับสนุนให้สภาฯ ศึกษาแนวทางป้องกันการรัฐประหาร ผ่านการออกกฎหมายเพื่อลงโทษและเอาผิดผู้ที่ทำรัฐประหาร นอกจากนั้นต้องศึกษาไปถึงแนวทางการส่งเสริมสถาบันทหารให้มีการศึกษาด้านประชาธิปไตย รวมถึงปฏิรูปการทำงานของสถาบันพระปกเกล้า  

 

"ผมเสนอด้วยว่าต้องสร้างทหารอาชีพไม่ใช่ทหารการเมืองคือ ทหารอาชีพต้องเชื่อฟัง จงรักภักดีต่อรัฐ ผู้ปกครองประเทศไม่ใช่ยึดอำนาจ นอกจากนั้นต้องเพิ่มสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย ผ่านเพิ่มเงินเดือน และพัฒนาอาชีพ รวมถึงพัฒนาความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนช่วงจำเป็นและเมื่อทหารพ้นจากการรับราชการ ต้องมีอาชีพ รวมถึงทหารต้องเป็นกลางทางการเมือง ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าฝ่ายการเมืองผิดต้องยอมรับและต้องปรับปรุง" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าาว    

  

นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าขอให้ตรากฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่ทำรัฐประหาร ด้วยการนำตัวไปประหารชีวิต และยึดทรัพย์ ทั้งนี้ตนขอเรียกร้อง ไปยังนายกฯ ในปัจจุบันที่ระบุว่ามาตามระบอบประชาธิปไตย ขอให้ตรากฎหมายลงโทษคนที่ปฏิวัติ และให้สิทธิประชาชนต้านการรัฐประหาร ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อปกป้องประชาธิปไตย


ขณะที่การอภิปรายในส่วนของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่เสนอชื่อร่วมอภิปราย เบื้องต้นรวม 10  คน นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายคัดค้านสภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษา เพราะหากจะมีการปฏิวัติ แม้มีกฎหมายป้องกัน การเกิดขึ้นเมื่อถึงจังหวะที่ต้องปฏิวัติย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นในแนวทางต้องเข้าใจในวัฒนธรรมทางการเมือง รู้จักผ่อนสั้นและผ่อนยาว ทั้งนี้ตนเข้าใจในวัฒนธรรมการเมือง และการรัฐประหาร อันดับแรกต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการยอมรับ ดังนั้นผลหลังรัฐประหารจึงได้รับเสียงชื่นชมมากกว่าก้อนหิน