วิษณุ เผย ทูลเกล้าฯร่างพ.ร.บ.งบฯ63 ได้ภายในก.พ.นี้
"วิษณุ" โล่งอก "ร่างพ.ร.บ.งบฯ63" ไม่โฆษะ ลุย ทำต่อให้เสร็จใน 30 วัน เผย ทูลเกล้าฯ ได้ภายใน ก.พ.นี้ โยน "ป.ป.ช." สอบต่อ "เสียบบัตรแทนกัน" ชี้ หาก "เจ้าของบัตร-คนเสียบแทน" สมคบกัน ถือเป็นตัวการทั้งคู่
7 ก.พ.2563 -เวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่เป็นโมฆะ ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯไม่ได้ตกไปหรือโมฆะทั้งฉบับ
อ่านข่าว - มติศาลรธน.ร่าง พ.ร.บ.งบฯ63 ไม่โมฆะ
ส่วนเรื่องความสุจริตหรือไม่สุจริตอะไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องไปตรวจสอบดำเนินคดีต่อไป ไม่เกี่ยวอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับวาระที่ 2 ที่ศาลวินิจฉัยให้เสียไปนั้น จะเริ่มต้นพิจารณาในขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ พิจารณาเสร็จแล้วและเสนอสภาฯพิจารณาเห็นชอบตั้งแต่มาตรา 1 เรื่อยไป ใครสงวนมาตราอะไร กันไว้ก็ว่ากันไปแต่ทุกคนเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างต้องรีบร้อนรวดเร็วให้เสร็จใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.
ที่ศาลมีคำวินิจฉัย ซึ่งตนได้เรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมทราบแล้ว และทราบว่านายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯกำหนดให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าววันที่ 13 ก.พ. เป็นต้นไปเมื่อพิจารณากันเสร็จและลงมติวาระ 3 เสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว.จะใช้เวลาไม่นาน จากนั้น ส.ว.จะส่งกลับมายังรัฐบาล โดยมีเวลา 5 วันก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูล คาดว่าทูลเกล้าฯได้ภายในเดือน ก.พ. นี้
เมื่อถามว่า สภาฯมีสิทธิอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระ 2 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีสิทธิจะอภิปรายมากหรือน้อยแต่ทุกคนต้องเข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินการตามกำหนดเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งตนไม่อาจชี้นำได้ เมื่อถามว่าศาลวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ถือว่าแฮปปี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “รู้สึกโล่งอก”
เมื่อถามถึงการดำเนินการกับผู้เสียบบัตรแทนกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แตะต้อง เพราะไม่ใช่เรื่องของศาล ต้องไปตรวจสอบกันเอง และไม่ว่าภายหลังผลการตรวจสอบการเสียบบัตรจะเป็นอย่างไร ผิดหรือไม่จะไม่ย้อนมาทำให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณนั้นเสียไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวสภาฯมีสิทธิเอาเรื่องกับผู้เสียบบัตรแทนกันได้ ใครก็สามารถร้องเรียนเหมือนกับที่มีการยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบ มันเป็นเรื่องพฤติกรรมของส.ส. ไม่ใช่คดีอาญาธรรมดา เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช. จะเป็นเจ้าของเรื่องที่ต้องตรวจสอบก่อนเป็นด่านแรก
เมื่อถามว่าส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกับเจ้าของบัตร มีโทษเหมือนกันหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรายังไม่ทราบเลยว่ามีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ แต่ละคนมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน บางคนอ้างว่าบัตรคาอยู่เพราะตัวเขาไม่อยู่ บางคนก็อ้างว่าให้คนอื่นเสียบบัตรแทนโดยยินยอมและยืนควบคุมอยู่ สิ่งเหล่านี้หากเป็นความผิดจะไม่เหมือนกัน โทษก็จะไม่เหมือนกัน เว้นแต่เป็นการสมคบกันแบบนั้นจะถือเป็นตัวการทั้งคู่