"เสรีพิศุทธ์" หนาวปมบ้านรุกแม่น้ำ - ปลด ปธ.กมธ.
รองผู้การสิงห์บุรีร้องกรมที่ดินสอบบ้าน "เสรีพิศุทธ์" รุกแม่น้ำเจ้าพระยา ลั่นหากผิดจริงยื่นอัยการรื้อคดี "ชวน" บรรจุญัตติถอดพ้น ปธ.กมธ.ปราบโกง แล้ว
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ สำนักงานกรมที่ดิน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ โมรานนท์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี (รอง ผบก.ภ.จว.สิงห์บุรี) เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้ตรวจสอบรังวัดท่าเรือในบริเวณบ้านพัก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ในพื้นที่เขตสามเสน ว่ารุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่ พร้อมแนบรายงานวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศมาด้วย โดยมี นายสุรวิทย์ นวลแก้ว เป็นตัวแทนรับหนังสือ
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า ในฐานะประชาชนและในฐานะที่เป็นผู้เคยร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดำเนินคดีอาญากับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้กรมที่ดินตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ยึดรายงานการสอบสวนที่ตนเองได้ยื่นดำเนินคดีไว้เมื่อปี 2551 ส่วนคดีดังกล่าวที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และการที่มายื่นดำเนินการในวันนี้เนื่องจากเป็นการสานต่อจากคดีที่เคยยื่นไว้ก่อนหน้านี้ แต่ช่วงที่ผ่านมาติดคดีอื่นจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ และเห็นว่าเมื่อกรมเจ้าท่าได้ดำเนินคดีจึงกลับมาดำเนินการต่อเพื่อให้หมดข้อสงสัยในสิ่งที่คาใจ
“ถ้ากรมที่ดินตรวจสอบว่ามีการบุกรุกเลยแนวเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ดูจากแนวเขตตลิ่งของศาลาวัด ถ้าเลยแนวเขต แต่ต้องดูว่าบุกรุกหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของกรมที่ดินที่ต้องไปตรวจสอบ ประกอบกับต้องดูภาพถ่ายทางอากาศว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งในสำนวนมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายทางอากาศพิจารณา แต่อัยการกับตํารวจไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้ ไปพูดถึงเรื่องก่อสร้างซะเป็นส่วนใหญ่” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอ้างว่า พยานหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้มีความชัดเจนว่ามีการลุกลามเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่ ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อ้างว่าแนวเขตของวัดที่ตอนนี้ถูกน้ำกัดเซาะไปเพราะวัดไม่ดูแล จึงทำให้บ้านของตนเองซึ่งเป็นแนวเขตที่แท้จริงดูเหมือนว่าล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นว่า เรื่องนี้ไม่ทราบและขอให้ไปตรวจสอบจากแผนที่ว่าวัดสร้างก่อนหรือว่าบ้านสร้างก่อน ซึ่งการยื่นฟ้องร้องและติดตามคดีนี้ต่อเนื่องก็เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะที่ต้องไม่ปล่อยให้ผู้ใดเอาเปรียบสังคม รุกล้ำทรัพยากรของชาติอย่างไม่ถูกต้อง และส่วนตัวก็จะหายคลางแคลงใจในเรื่องนี้ แต่หากการวัดที่ดินของกรมที่ดินพบว่ามีรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจริง ก็จะเป็นหลักฐานใหม่ไปยื่นต่ออัยการเพื่อรื้อฟื้นคดีใหม่ต่อไป
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ รัฐสภา นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร หลายคนสอบถาม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บ่อยครั้งมากว่าเรื่องราวต่างๆ ถึงไหนแล้ว จึงขอเรียนว่ามีเรื่องที่ กมธ. เสนอมา 2 เรื่อง คือ เสนอญัตติด่วนขอให้สภามีมติให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พ้นจากการเป็น กมธ. ตามข้อบังคับการประชุม ส.ส. และ กมธ. ข้อที่ 108 (5) ว่าด้วยเรื่อง กมธ. พ้นตำแหน่งเมื่อสภาให้มีมติพ้นตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ล่วงละเมิดพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการถวายสัตย์
“ภายหลังจากรับญัตติมาแล้ว เจ้าหน้าที่สภาได้เสนอความเห็นมายังประธานสภาว่าควรดำเนินการอย่างประนีประนอม โดยเรียกผู้เสนอญัตติมาพูดคุย เพราะญัตตินี้ค่อนข้างแรง จะมีการลงมติให้ประธาน กมธ. พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งอาจกระทบข้อตกลงระหว่างพรรคในเรื่องตำแหน่ง กมธ. ได้ ซึ่งนายชวนไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งกันและอยากให้คณะ กมธ. ทำงานราบรื่นเพื่อประเทศชาติมากกว่า ดังนั้น ประธานสภาจึงยอมสละเวลาเข้าไปสังเกตการณ์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งได้เชิญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. ผู้เสนอญัตติ มาพูดคุย และถัดจากนั้นเล็กน้อย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ขอเข้าพบนายชวน แต่ปรากฏว่านายไพบูลย์ยืนยันไม่ถอนญัตติ จึงจำเป็นต้องเสนอเข้าวาระการประชุม แต่สภาพิจารณาแล้วว่าไม่เข้าเกณฑ์ญัตติด่วนจึงบรรจุเป็นญัตติธรรมดาแทน ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 113” นพ.สุกิจ กล่าว
ที่ปรึกษาประธานสภา กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาเพื่อสอบจริยธรรมการเลือกรับหนังสือร้องเรียนและพูดจาหยาบคายของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งขอเรียนว่าต้องส่งให้คณะกรรมการจริยธรรมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตั้ง เนื่องจากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ส.ส. และ กมธ. กำลังรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมีการประกาศแล้วจึงจะตั้งคณะกรรมการจริยธรรมโดยมีประธานสภาเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าวและจะได้สอบสวนวินิจฉัยต่อไป