"ลดดอกเบี้ย"ภาระที่คนฝากเงินแบกรับ
คอลัมน์ - ขีดเส้นใต้ โดย - นายดินสอ
การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยลดลงเหลือ 1% แม้ปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ยังไม่มีการ ลดดอกเบี้ย ลงเหลือเท่านี้มาก่อนนั่นเท่ากับสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยอาการหนักจริง ๆ
เหตุผลของทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้งการ ลดดอกเบี้ย ครั้งนี้จึงเป็นความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งจากปัจจัยลบที่รุมเร้ามากมาย
อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเท่านั้นยังมีข้อเสียด้วยเช่นกันเข้าตำรา”ในดีย่อมมีเสีย”นั่นเองสำหรับจุดประสงค์หลักของการลดดอกเบี้ยก็เพื่อที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจลด “ดอกเบี้ยเงินกู้” ลง เพื่อให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการกู้ถูกลง
จากกลไกของดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับนโยบายดอกเบี้ยของตัวเองให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยตามเสียทีเดียว มติของกนง.เป็นการใช้มาตรการ ดอกเบี้ยอ้างอิงเท่านั้น ส่วนธนาคารพาณิชย์จะลดตามหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ไฮไลท์ของการลดดอกเบี้ยส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการลดแรงกดดัน”เงินบาทแข็งค่า” ทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศรวมกันราว ๆ 80% ของจีดีพี.ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักฉะนั้นการลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง
อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยทุกครั้งจะมีผลกระทบทั้งทางลบและบวกกลายเป็นดาบ 2 คมได้เช่นกันอย่างแรกเลยตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นั่นหมายความว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้เข้าขั้นวิกฤตจริง ๆ ในการตัดสินใจลดดอกเบี้ยแต่ละครั้งกนง.จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม กว่าจะทิ้งไพ่แต่ละใบต้องมั่นใจว่าได้ผลคุ้มค่าจริงๆ การที่ยอมทิ้งไพ่ที่อยู่ในมือที่เหลือน้อยอย่างทุกวันนี้เป็นการสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลงอย่างน่าเป็นห่วง
ที่สำคัญในการลดดอกเบี้ยแต่ละครั้งคนที่ต้องเจ็บปวดใจคือคนฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยต่ำลง เพราะนอกจากธนาคารจะลดดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว ยังจะต้อง ลดดอกเบี้ย เงินฝากตามไปด้วย คนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นพวกข้าราชการ พวกคนทำงานที่เกษียณอายุแล้วมีเงินก้อนหนึ่งหวังจะฝากไว้กินดอกเบี้ยในวัยชราและคนชั้นกลางที่เก็บเงินออมสำหรับอนาคต แต่ในรอบหลายปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินฝากบ้านเรามีแต่ปรับลงมาตลอด คนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนที่เสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นฮีโร่ที่โอบอุ้มเศรษฐกิจไทยตัวจริง
นอกจากนี้ ผลของการ ลดดอกเบี้ยให้ อยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จนเกิดสภาพคล่องทางการเงิน จะมีเม็ดเงินเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆเช่น อสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น เป็นต้นเพื่อจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นแม้จะมีความเสี่ยงก็ตามยังดีกว่าฝากกินดอกเบี้ยซึ่งดีดลูกคิดแล้วไม่คุ้ม
ฉะนั้นการลดดอกเบี้ยย่อมมีทั้งคนได้คนเสีย คนที่ได้คือระบบเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้ ภาคธุรกิจได้ต้นทุนทางการเงินถูกลง คนกู้ซื้อบ้าน ก็คลายกังวลจากที่ต้องแบกรับดอกเบี้ย แต่คนที่เสียคือคนฝากเงินที่ต้องแบกรับการลดดอกเบี้ยต่ำ ๆ จึงเป็นดาบสองคม
ทั้งนี้ต้องจับตาดูว่ามาตรการ “ยาแรง” เที่ยวนี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยที่นอนหายใจผงาบๆในห้องไอซียู.จะฟื้นจากอาการไข้ได้หรือไม่ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเราอาจจะได้เห็นดอกเบี้ยติดลบแบบที่ญี่ปุ่นก็เป็นได้!