สืบสานบุญข้าวจี่ประเพณีบุญเดือนสามวัดไชยศรีคนแห่ร่วมคับคั่ง
ชาวบ้านสาวะถี อ.เมือง ขอนแก่น ร่วมกับฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมร่วมจัดงานสืบสานประเพณีบุญข้าวจี่วิถีอีสาน มีคนร่วมงานคับคั่งกว่า 300 คน
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 63 ชาวบ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมกับคณาจารย์ นักศึกษา ประชาชน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่า 300 คน ได้ร่วมกันตักบาตรข้าวจี่ บริเวณวัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อสืบสานประเพณีบุญเดือน 3 ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่แบบอีสาน
โดยพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี และเจ้าคณะตำบลสาวะถี เปิดเผยว่า สำหรับประเพณีบุญข้าวจี่นี้ถือเป็นประเพณีตามฮีตสิบสองคองสิบสี่แบบอีสาน ซึ่งจะมีงานบุญประเพณีแทบทุกเดือน และบุญเดือนสามนี้ถือเป็นบุญใหญ่ ที่ประชาชนได้มาร่วมกันทำบุญขึ้น และที่ชุมชนแห่งนี้จะมีการนำเอาข้าวเหนียว เตาถ่านมาจี่ข้าวจี่ที่ลานวัด โดยได้ทำกันต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้วจนกลายเป็นบุญใหญ่ที่มีคนมาร่วมจากทั้งในชุมชนและนอกชุมชนจำนวนมากและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาร่วมกิจกรรมด้วย
ด้านรศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ปีนี้ได้พานักศึกษา และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ถือเป็นประเพณีอีสานที่ดีงามที่ได้ทางชุมชนได้ร่วมกันสืบสานและมหาวิทยาลัยเองก็ได้หนุนเสริมกิจกรรมนี้มาต่อเนื่องทุกปี โดยปีได้มีการถวายผ้าผะเหวด ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์โดยนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย พร้อมกับมีเครือข่ายประชาชนจากเทศบาลนครขอนแก่นเข้าร่วมตักบาตรข้าวจี่ด้วยเช่นกัน
สำหรับประเพณีบุญข้าวจี่เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานของชุมชนชาวบ้านจะนัดหมายกันมาทำบุญร่วมกันโดยช่วยกันปลูกผามหรือปะรำ เตรียมไว้ในตอนบ่าย ครั้นเมื่อถึงรุ่งเช้าในวันต่อมาชาวบ้านจะช่วยกันจี่ข้าว หรือปิ้งข้าวและตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะให้มีการ เทศน์นิทานชาดก เรื่องนางปุณณทาสีเป็นเสร็จพิธี
มูลเหตุจากความเชื่อทางพุทธศาสนา เนื่องมาจากสมัยพุทธกาล มีนางทาสชื่อปุณณทาสี ได้นำแป้ง ข้าวจี่ (แป้งทำขนมจีน) ไปถวายพระพุทธเจ้า แต่จิตใจของนางคิดว่า ขนมแป้งข้าวจี่เป็นขนมของผู้ต่ำต้อย พระพุทธเจ้าคงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าหยั่งรู้จิตใจนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ ทำให้ นางปิติดีใจ ชาวอีสานจึงเอาแบบ อย่างและพากันทำแป้งข้าวจี่ถวายพระมาตลอด อีกทั้งเนื่องจากในเดือนสามอากาศของภูมิภาคอีสานกำลังอยู่ ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟ ผิงแก้หนาวชาวบ้านจะเขี่ยเอาถ่านออกมาไว้ด้านหนึ่งของกองไฟ แล้วนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางลงบนถ่านไฟแดงๆ นั้นเรียกว่า ข้าวจี่ ซึ่งมีกลิ่นหอม ผิวเกรียมกรอบน่ารับประทานทําให้นึกถึงพระภิกษุสงฆ์ ผู้บวชอยู่วัดอยากให้ได้ รับประทานบ้าง จึงเกิดการทำบุญข้าวจี่ขึ้น ดังมีคำกล่าวว่า "เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่มีน้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตา" (พอถึงปลาย เดือนสามภิกษุก็คอยปั้นข้าวจี่ ถ้าข้าวจี่ไม่มีน้ำอ้อยยัดไส้ เณรน้อยเช็ดน้ำตา)
พอถึงวัดนัดหมายทำบุญข้าวจี่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนย่ำรุ่งของวันนั้นเพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตรจังหัน นอกจาก ข้าวจี่แล้วก็จะนำ "ข้าวเขียบ" (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเองและที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาว ไปถวายพระที่วัด ข้าวจี่บางก้อนผู้ เป็นเจ้าของได้ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อย แล้วทาด้วยไข่ เพื่อให้เกิดรสหวานหอมชวน รับประทาน ครั้นถึงหอแจกหรือ ศาลาโรงธรรมพระภิกษุสามเณรทั้งหมดในวัดจะ ลงศาลาที่ญาติโยมที่มารวมกันอยู่บนศาลาก่อน แล้วประธานในพิธีเป็นผู้อาราธนาศีล พระภิกษุให้ศีล ญาติโยมรับศีล แล้วกล่าวคำถวายข้าวจี่ จากนั้นก็จะนำ ข้าวจี่ใส่บาตรพระ ซึ่งตั้งเรียงไว้เป็นแถวเท่าจำนวนพระเณร พร้อมกับถวายปิ่นโต สำรับกับ ข้าวคาวหวาน เมื่อพระฉันจังหันเทศน์เสร็จแล้วก็ให้พร ญาติโยมรับ พรเป็นเสร็จพิธี