ข่าว

กรมวิทย์ฯ เจ๋งเพาะเชื้อโควิด-19 จากสารคัดหลั่งผู้ป่วยสำเร็จ 

กรมวิทย์ฯ เจ๋งเพาะเชื้อโควิด-19 จากสารคัดหลั่งผู้ป่วยสำเร็จ 

16 ก.พ. 2563

นักวิจัยกรมวิทย์เจ๋ง เพาะเชื้อโควิด-19 ได้ มีลุ้นต่อยอดวิจัยวัคซีน

 

               สถาบันวัคซีนฯ ระดมสมองผู้เชี่ยวชาญของประเทศ ทำ “พิมพ์เขียว” วิจัยพัฒนาวัคซีนยับยั้ง "ไวรัส COVID- 19" คร่าชีวิตมนุษย์ เผย นักวิจัยกรมวิทย์เจ๋ง เพาะเชื้อ covid-19 ได้ มีลุ้นต่อยอดวิจัยวัคซีน ส่วนศิริราช เล็งสร้างชุดตรวจเบื้องต้นภายใน 3-5 เดือนนี้ 

 

อ่านข่าว คุมเข้ม "โควิด-19" แรงงานต่างด้าว

อ่านข่าว ป้องกัน โควิด-19 แพร่ กรองเข้มด่านพร้อมรับคนไทยกลับ

 

               ​วันที่ 16 ก.พ. ​นพ.ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์ ประธานอนุกรรมการวิชาการ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันได้จัดประชุมหารือเรื่องการวิจัยพัฒนาวัคซีนและวิจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 หรือ COVID-19

 

               โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ในหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนกว่า 30 คน เข้าร่วมระดมสมอง ณ ห้องประชุมของสถาบัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัย

 

กรมวิทย์ฯ เจ๋งเพาะเชื้อโควิด-19 จากสารคัดหลั่งผู้ป่วยสำเร็จ 

 

               โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 เพื่อใช้ในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งการจัดเตรียมแผนงานวิจัยระดับประเทศ เรื่องการระบาดใหญ่ ซึ่งทุกคนต่างสนับสนุนให้เดินหน้าวิจัยในเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดเรื่องการทำงานแข่งกับเวลาอย่างมาก

 

               ​​นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการรับมือปัญหาไวรัส COVID-19 ดังนี้ 1.ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย 2.ทุกคนในประเทศไทยต้องปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และ 3. ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม

 

กรมวิทย์ฯ เจ๋งเพาะเชื้อโควิด-19 จากสารคัดหลั่งผู้ป่วยสำเร็จ 

 

               ดังนั้นสถาบันจึงได้นำพิมพ์เขียวแนวทางวิจัยและพัฒนาขององค์การอนามัยโลก (WHO R&D Blueprint) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 มาเป็นประเด็นสำคัญในการระดมสมองเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายข้างต้นและสอดรับกับภารกิจของสถาบัน ได้แก่ การพัฒนาพิมพ์เขียวของประเทศ การจัดลำดับความสำคัญในการรับมือสถานการณ์ และการหาทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งจากในและต่างประเทศ

 

               ​“ขณะนี้แต่ละหน่วยงานกำลังดำเนินงานอย่างเข้มข้น เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถเพาะเชื้อไวรัส COVID-19 จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา virus-like particle,VLP วัคซีน และอยู่ระหว่างการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสเบื้องต้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 เดือน

 

กรมวิทย์ฯ เจ๋งเพาะเชื้อโควิด-19 จากสารคัดหลั่งผู้ป่วยสำเร็จ 

 

               คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังขอทุนสนับสนุนในการวิจัยวัคซีนชนิด mRNA องค์การเภสัชกรรมก็กำลังเตรียมการในการร่วมงานกับ ม.มหิดล เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ก็พร้อมร่วมมือสนับสนุนการนำวัคซีนไปทดสอบในสัตว์ทดลอง นอกจากจะได้รับทราบถึงความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในหลายมิติแล้วยังได้เห็นสัญญาณของการร่วมมือเพื่อบูรณาการจัดการกับปัญหานี้อีกด้วย” นพ.นคร กล่าว

 

               ​​สำหรับผู้เข้าร่วมหารือในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันบำราศนราดูร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ องค์การเภสัชกรรม บริษัท องค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด บริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด และนักวิชาการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ