ไม่ธรรมดาสองพืชมูลค่าสูงดันรายได้กระฉูด
เกษตรฯ จับมือ สภาหอการค้า นำร่องเมืองกาญจน์ดัน 'หน่อไม้ฝรั่ง-ข้าวโพดฝักอ่อน' พืชมูลค่าสูง สร้างรายได้เกษตรกร
18 กุมภาพันธ์ 2563 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางความร่วมมือระหว่างสองภาคส่วนในการพัฒนาการเกษตร
อ่านข่าว แล้งนี้ต้องรอดไม้ดอกไม้ประดับเลี้ยงง่ายแถมรายได้อย่างงาม
น่าห่วง...ตะวันออกใช้น้ำหนักมาก
รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสินค้าเกษตรไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงเพื่อสร้างรายได้ (Cash Crop) เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน กล้วยหอมทอง กาแฟ โกโก้ อินทผลัม กุ้ง และถั่วลิสง เป็นต้น
ในการนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง และข้าวโพดฝักอ่อน ตลอดจนศึกษาปัญหาการผลิตและจัดทำแผนส่งเสริมการผลิตกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีความต้องการสูง และยังได้ให้โควต้าการส่งออกกล้วยหอมทองแก่ประเทศไทยอีกด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่เกษตรกร จะสามารถพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานต่อไป
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับการส่งออกกล้วยหอมทองและอินทผลัม รวมถึงจัดทำแผนประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์และสรรพคุณของผลไม้ไทย เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลไม้ในประเทศ (Thai First)
ให้มีการจัดทำข้อมูลสินค้าเกษตรเด่นที่มีศักยภาพประจำจังหวัดเพื่อสนับสนุนให้เป็นสินค้าเด่นในจังหวัด และนำมาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรสำคัญในระดับพื้นที่ รวมทั้งการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเกษตรผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกษตรไปสู่สังคมและเกษตรกร ให้มากขึ้น
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่นำร่องจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประเมินศักยภาพการผลิตหน่อไม้ฝรั่งและข้าวโพดฝักอ่อน พบว่า จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกหน่อไม้ฝรั่งเป็นลำดับ 2 ของประเทศ โดยเกษตรกรจะรวมกลุ่มในการจำหน่ายผลผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรเคยประสบปัญหาโรคจากเชื้อราทำให้ลำต้นได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกษตรกรเลิกเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการส่งเสริม และฟื้นฟูการผลิตหน่อไม้ฝรั่งในพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรมีความพร้อมด้านองค์ความรู้ในการผลิตอยู่แล้ว ประกอบกับตลาดยังมีความต้องการ จึงคาดว่าเกษตรกรจะสามารถเพิ่มการผลิตหน่อไม้ฝรั่งในพื้นที่ดังกล่าวได้
ส่วนข้าวโพดฝักอ่อน มีพื้นที่เพาะปลูกมากเป็นลำดับ 1 ของประเทศ ซึ่งจะมีผู้รวบรวมทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเกษตรกรกับบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์ แรงงานในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต และขนส่ง แต่ในปัจจุบันพบการระบาดของหนอนเจาะลำต้น จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ในการกำจัดและป้องกันการระบาด รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งศึกษาความเหมาะสมและจัดทำแผนส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่งและข้าวโพดฝักอ่อนสำหรับพื้นที่นำร่องในจังหวัดกาญจนบุรี โดยกำหนดปริมาณความต้องการ พื้นที่ส่งเสริม กลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย และแนวทางการรับซื้อที่ชัดเจน เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิดตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ ต่อไป