ข่าว

"นิพนธ์" ลุย นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

"นิพนธ์" ลุย นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

18 ก.พ. 2563

"นิพนธ์" ลุย "นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย" ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ย้ำทุกฝ่ายต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน พร้อมบังคับใช้ กม.เข้มงวด

 

 

          เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 - นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงนโยบายการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนนในระดับท้องถิ่นว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมาย คือ บูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ภารกิจประสบความสำเร็จ ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยฉายเดี่ยวเล่นบทพระเอกเพียงคนเดียว เพราะการทำให้ถนนทุกเส้นปราศจากอุบัติเหตุได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่เพียงประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ผ่าน ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นตัวแทนรัฐบาลส่วนกลาง ลงไปทำงานในระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนทุกนโยบายที่รัฐบาลมอบหมาย ดังนั้นกลไกผู้ว่าฯจึงมีความสำคัญในการนำนโยบายกระทรวงและรัฐบาลไปปฏิบัติให้สำเร็จ

 

          "ผมในฐานะ รมช.มหาดไทย พันธกิจสำคัญคือ การตรวจราชการ ติดตามประเมินผล ถือเป็นงานสำคัญของผู้บริหารกระทรวง เพราะเมื่อมอบนโยบายไปแล้ว ต้องติดตามผลโดยยึดแนวทางการเสด็จไปตรวจราชการตามหัวเมืองของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวางไว้เป็นแบบแผน คือ การเป็นผู้นำ ต้องเดินให้ รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด  เป็นไปตามที่พระองค์ท่านได้กล่าวถึงหลักสำคัญในการทำงานของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยให้ได้ผลสัมฤทธิ์ คือ  “จงคิด จงทำ จงตรวจ” เดินตรวจราชการให้รองเท้าสึกดีกว่านั่งตากแอร์ในห้องทำงานจนกางเกงขาด นี่คือ หลักปรัชญาในการทำงาน" นายนิพนธ์ กล่าว 
 
 
          รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย ในฐานะที่ตนเองเป็นแม่ทัพใหญ่ เดินทางลงพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ โหมโรงการทำงานก่อนจะถึงช่วงเทศกาลสำคัญๆ ที่พี่น้องประชาชนจะนิยมใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ที่กำลังจะมาถึงในช่วงเดือนเมษายนนี้ ได้ลงพื้นที่ “คิกออฟ” แผนปฏิบัติการ หรือ แอคชั่นแพลน ไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2563 ณ จังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่ทางกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำต่อบรรดาขุนศึก คือ ผู้ว่าฯ ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการสูงสุดเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทย ต้องไปประสานความร่วมมือกับผู้บังคับการจังหวัดในฐานะเป็นประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายร่วมมือบังคับใช้กฎหมายจราจรให้มีความเข้มงวด และค้นหาสาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนแบบรายบุคคลให้ได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด ทั้งในช่วงเทศกาลพิเศษ หรือ วันปกติธรรมดา 
 

          นายนิพนธ์ กล่าวว่า การดำเนินงานต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บและการเสียชีวิต ให้ทราบปัจจัยเสี่ยง ทั้งจุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยง หากเป็นเพราะตัว “คน” ต้องเร่งรัดประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ เมาไม่ขับ ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด หรือ สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียในแต่ละวัน ดังนั้นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดกับระดับชุมชนที่ต้องเน้นเรื่องการลงพื้นที่เข้าไปให้ถึงและดึงการมีส่วนร่วมจากชุมชนเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านโรงเรียนและครอบครัว  
 

          อย่างไรก็ตามหากเป็นปัจจัยเสี่ยงจาก “ถนน” ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง ที่ดูแลถนนทางหลวง หรือ กรมทางหลวงชนบท ที่ดูแลถนนชนบทต้องแก้ไขปรับปรุง หรือ ถนนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนทางท้องถิ่นต้องดูแล เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจในการดูแลปัญหาจราจรไว้แล้ว เพราะหากลดปัจจัยเสี่ยง “คน” และ “ถนน” ลงได้ เท่ากับลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ  
 

          สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก “รถ” นั้น ถือเป็นหน้าที่ของกรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมที่ต้องไปเข้มงวดตรวจสภาพรถที่ใช้งานบนท้องถนน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากสภาพตัวรถ โดยรถที่นำมาใช้งานบนท้องถนนต้องมีความมั่นคง ปลอดภัย แข็งแรง มีสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะ เพราะ “คน” “รถ” และ “ถนน” ทั้งหมด คือ บริบทสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียบนท้องถนน หากปิดจุดเสี่ยง ทั้ง 3 ปัจจัยได้ เชื่อว่าจะลดการสูญเสียได้อย่างมาก ยิ่งชุมชนในระดับตำบลเข้ามามีส่วนร่วม ยิ่งจะสามารถแก้ปัญหาการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย  
 

          “ลำดับแรกของการทำงาน คือ ต้องทำความเข้าใจและได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพราะอดีตที่ผ่านมา ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดจากคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างไม่เข้มงวดมากนัก" นายนิพนธ์ กล่าว 
 

          นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทุกครั้งที่มอบนโยบายประเด็นที่เน้นย้ำ ผู้นำท้องถิ่นต้องตระหนักถึง ต้นทางลดการสูญเสียทางถนน คือ “ด่านครอบครัว” ด่านสกัดสำคัญที่ต้องกวดขันเข้มงวดที่สุด คือ คนในครอบครัว จากนั้นเป็น “ด่านชุมชน” และ “ด่านโรงเรียน” โดยมุ่งเน้นไปที่ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ในชุมชนมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกเคารพกฎหมายจราจร ต่อจากนั้นเป็น “ด่านจุดตรวจความมั่นคง” ของแต่ละจังหวัด ถนนเส้นหลักย่อมอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง และ ถนนเส้นรองย่อมอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท ดังนั้นปัจจัยสำคัญการทำงานให้สำเร็จ คือ บูรณาการรวมกันกับทุกภาคส่วน
 

          อย่างไก็ตามจากประสบการณ์ทำงานและลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด เรามองปัญหาอุบัติเหตุบนถนนได้ทะลุปรุโปร่ง การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนจะนำไปสู่ความสำเร็จโดยเฉพาะ “กระบวนการยุติธรรม” มีความสำคัญลำดับต้นๆ ได้ทำให้ความสูญเสียบนท้องถนนลดลงได้มาก ซึ่งต้องขอขอบคุณ ตำรวจ อัยการ และ ศาล ที่สามารถพิจารณาคดีเมาแล้วขับได้กว่า 3 หมื่นคดี จึงทำให้คนที่ประมาทเลิ่นเล่อไม่ยำเกรงกฎหมาย และสำนึกว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้จริงมากขึ้น ดังนั้นกลไกกระบวนการยุติธรรม เป็นปัจจัยส่งเสริมให้นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนนของกระทรวงมหาดไทยเกิดผลสำเร็จ 
 

          “กระบวนการยุติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งต้องบูรณาการภารกิจร่วมกัน หน่วยงานปฏิบัติหลัก คือ ตำรวจ หน้าที่หลักต้องบังคับใช้กฎหมาย อัยการ ศาล กลไกสำคัญในกระบวการยุติธรรม ต้องทำอย่างต่อนเนื่อง โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายสนับสนุนเต็มที่ ในฐานะดูแลท้องถิ่น” รมช.มหาดไทย กล่าว 

 

          นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญและขาดไม่ได้สมควรได้รับการยกย่องคือ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติในฐานะอนุกรรมการ ศปถ. หน่วยกู้ชีพทั้งของโรงพยาบาล และมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงการวินิจฉัยตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามจุดตรวจต่างๆ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุนำคนเจ็บส่งให้ถึงมือหมอให้เร็วที่สุด เป็นบทบาทสำคัญของการแพทย์ฉุกเฉิน นี่คือรูปธรรมในการทำงานบูรณาการ 
 
 
         " ณ วันนี้ นโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัย บทบาทของกระทรวงมหาดไทย ในการทำงานผู้บริหารกระทรวงควรยึดหลักคำสอนของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “จงคิด จงทำ จงตรวจ” มาใช้ทำงานสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นที่มีด้วยกัน สองขา ต้องเดินไปพร้อมกัน ขาที่หนึ่ง คือ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ขาที่สอง คือ กรมปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแลท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านและ อาสาสมัครต่างๆ ทั้งสองหน่วยงานต้องร่วมกันทำงานขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านกลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ชุมชนตระหนักความปลอดภัยบนท้องถนน เริ่มจากครอบครัวโดยมีชุมชนเป็นฐานที่มั่น พร้อมกับแตะมือทำงานกับทุกภาคส่วนย่อมจะนำพาไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ คือ คนไทยได้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยและอุ่นใจ" รมช.มหาดไทย กล่าว