"ช่อง 3" ปรับกลยุทธ์ปี 63 ขอลดขนาดองค์กร
แจงพนักงาน แนวทาง - กลยุทธ์ธุรกิจปีนี้ รับการเปลี่ยนแปลงตลาด - พฤติกรรมผู้ชม รวมถึงการปรับโครงสร้างบริษัท
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารการออกอากาศโทรทัศน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ชี้แจงพนักงานถึงกลยุทธ์และแนวทางการทำธุรกิจของบริษัทในปี 2563 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกลยุทธ์ของช่อง 3 จะครอบคลุมด้านคอนเทนต์ ที่จะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้ชม โดยเฉพาะการปรับคอนเทนต์ในช่วงไพรม์ไทม์ที่เริ่มชิงคนดูตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.30 น.
อ่านข่าว-ช่อง 3 ลดคนอีกรอบ เปิดลาออกสมัครใจ
กลยุทธ์ต่อมาคือการเปิดตัว ‘CH3+’ (ซีเอชสามพลัส) ออนไลน์แพลตฟอร์มโฉมใหม่ ที่จะเป็นตัวเชื่อมทีวีและออนไลน์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ D2C หรือ Direct to Consumers ทำให้เจ้าของสินค้าทำได้มากกว่าการโฆษณาเพื่อการจดจำเท่านั้น แต่จะสามารถเพิ่มยอดขายและจำนวนลูกค้าได้ทันทีที่รับชมอีกด้วย และรวมถึงกลยุทธ์การขายคอนเทนต์ของช่อง 3 ไปยังต่างประเทศ ซึ่งการทำกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ทำให้ช่อง 3 ต้องมีการปรับการทำงานขององค์กรให้มีความคล่องตัว ลดการทับซ้อนในการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายอริยะ ยังระบุว่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันดังที่กล่าวไว้ในสภาวะที่เม็ดเงินโฆษณามีการหดตัวอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อรายได้ของบริษัทให้ลดลงตาม บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องลดขนาดขององค์กรลง ดังนั้น บริษัทจึงได้แจ้งต่อพนักงานถึงโครงการสมัครใจลาออก โดยจะมีการเปิดโครงการในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เพื่อให้พนักงานที่สนใจได้แสดงความจำนง ซึ่งโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงานอย่างแท้จริง การดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่กล่าวมา รวมถึงการปรับโครงสร้างและลดขนาดขององค์กรในครั้งนี้จะทำให้ บมจ.บีอีซี เวิลด์ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว กลับมาทำกำไร และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 กลุ่มช่อง 3 ได้เลิกจ้างพนักงานประมาณ 150 คน โดย บริษัท บีอีซี - มัลติมีเดีย จำกัด ได้อธิบายเหตุผลว่า เนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตของช่อง 13 หรือช่อง 3 Family และช่อง 28 หรือช่อง 3 SD ทำให้ต้องเกิดการปรับโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมกับการประกอบกิจการช่อง 33 เพียงช่องเดียว และผลประกอบการขาดทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างขององค์กรให้มีขนาดที่เหมาะสมกับการดำเนินงานต่อไป การเลิกจ้างพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแต่เป็นเพราะความจำเป็นเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป