ได้ฤกษ์ฤดูกาลผลิตใหม่ สวนยางใช้เทคโนฯ อาชีพเสริม โกยรายได้
ชาวสวนยางตรังหน้าใส ร่วมงาน Field Day เรียนรู้เทคโนโลยีผลิตยางพาราคุณภาพ ควบคู่อาชีพเสริมอื่น หวังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
24 กุมภาพันธ์ 2563 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยางพาราที่เหมาะสม พื้นที่อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง เน้นให้เกษตรกรผลิตยางพาราได้คุณภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ หวังเกษตรกรมีรายได้พอเพียงในการดำรงชีวิต
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ขึ้นในทุกอำเภอทั่วประเทศ รวม 882 ศูนย์ มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรด้านต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สำหรับช่วงฤดูกาลผลิตใหม่ ตามหลักแนวคิดการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง
กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดให้ ศพก. ทุกแห่ง จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตสินค้าเกษตรตามศักยภาพของพื้นที่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรในรูปแบบการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ โดยมีส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมออกหน่วยบริการด้านการเกษตรในลักษณะของคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นฤดูกาลผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอรัษฏาประกอบอาชีพทำสวนยางพารา แต่พบว่าส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ ประกอบกับปัญหายางพาราราคาตกต่ำ และการระบาดของโรคใบร่วง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
สำนักงานเกษตรอำเภอรัษฎา ได้เล็งเห็นความสำคัญในแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางพารา ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เช่น พืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในพื้นที่ สัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางและเกษตรกรทั่วไปมีรายได้ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
โดยกำหนดเป้าหมายให้เกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10 มีจำนวนเกษตรกรที่มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งอำเภอรัษฎา มีเกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนยางพารา จำนวน 4,419 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 60,290 ไร่
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 กิจกรรมหลัก เป็นการถ่ายทอดความรู้ตามสถานีเรียนรู้ จำนวน 6 สถานี ดังนี้ การผลิตผักปลอดภัย (ผักกางมุ้ง) การปลูกพืชเศรษฐกิจ (ฝรั่ง และมะละกอ) การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (แพะเนื้อ) การจัดการปุ๋ยยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการสวนยางพาราอย่างมีประสิทธิภาพ และการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยและการแปรรูปผลผลิตจากผึ้ง
ส่วนที่ 2 กิจกรรมรอง ประกอบด้วยกิจกรรมการให้บริการทางการเกษตรในรูปแบบคลินิกเกษตรและนิทรรศการความรู้ด้านการเกษตรโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 10 คลินิก และส่วนที่ 3 กิจกรรมเสริม ประกอบด้วยการแสดงและจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มสถาบันเกษตรกร นิทรรศการการแสดงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง