"วิษณุ-อุตตม" สวน "พท." ปมเช่าที่ศูนย์สิริกิติ์
"วิษณุ-อุตตม" สวน "พท." ปมเช่าที่ศูนย์สิริกิติ์ เพราะ รบ.ยิ่งลักษณ์ทำตาม บ.เอกชนเสนอ ร่ายยาว รบ.ปัจจุบัน ฟังคำท้วงอัยการ ใช้เวลา 24เดือนกว่าจะลงตัว ปัดตอบปมเอื้อประโยชน์หรือไม่ "อุตตม" แจงระยะสัญญาเช่า 50 ปีเหมาะสม ระบุรัฐบาลได้รับผลตอบแทนสูง 1.8หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ซึ่งพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ต่อกรณีข้อกล่าวหาของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กรณี ครม. ต่อสัญญาให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ จำกัด รวม 50 ปี ว่า การอภิปรายของนายยุทธพงศ์นั้นเป็นข้อมูลเก่า อย่างไรก็ตามมีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือที่ดินของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีบริษัท เอ็ม.ซี.ซี. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่และเป็นคู่สัญญาของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มาตั้งแต่เดิม
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
"บิ๊กตู่" แจงพ่อ "ขายที่" แพงเหตุติดถนน ยันไม่รู้ใครซื้อ
"ยุทธพงศ์" เปิดหัวซักฟอก "บิ๊กตู่" ร่ำรวยผิดปกติ
บิ๊กตู่ สวน ฝ่ายค้าน ต้องเข้ามาเพราะมีโกง-ย่ำยีอำนาจตุลาการ
อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ลงนามฉบับเก่านั้น มีประเด็นต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งการใช้สอยพื้นที่ตามประเภทที่กฎหมายกำหนดและความสูงของอาคารที่ถูกจำกัด ทั้งนี้ มติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุล เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ก่อนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนจะเป็นรัฐบาลไหนขอให้ย้อนไปพิจารณา ต่อการแก้ไขสัญญาโดยอนุมัติ ให้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. และเช่าเป็นเวลา 50 ปี เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ส่วนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิศษ พ.ศ.2544 ให้ความเห็นว่าการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ผู้เช่ารายเดิมเช่าต่อไป ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุน ส่วนเงื่อนไขที่รัฐได้ประโยชน์ให้รัฐเจรจาไม่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายวิษณุ ชี้แจงต่อว่าในการแก้ไขสัญญาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งอัยการสูงสุดมีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ระบุ 10 ข้อสังเกต ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการทำให้อัยการสูงสุดไม่ติดใจ และเข้าสู่การพิจารณาของครม. และลงมติ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบตามกระทรวงการคลัง แต่เพื่อป้องกันการติดใจที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลัง ได้ปรึกษากับอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสัญญา และมีข้อสังเกต 4 ข้อ แต่ไม่ใช่เงื่อนไขของการแก้ไขสัญญา
"อีก 21 เดือนถัดมา นับจากปี 2559 รัฐบาลได้ดำเนินการตรวจร่างสัญญาตามที่อัยการแนะนำ และวันที่ 17 กันยายน 2561 ได้ดำเนินการตามสัญญา จากนั้นอีก 3 เดือนได้ลงนาม เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลฟังสำนักงานกฤษฎีกา, อัยการสูงสุด ผ่านขั้นตอนหลายรัฐบาลและนำมาสู่บทสรุป ดังนั้นเป็นการเอื้อหรือไม่เอื้อ เป็นความเห็น ผมไม่โต้แย้งหรือคัดค้าน ส่วนจะเอื้อหรือไม่ต้องดูว่าเอื้อรัฐบาลไหน และต้องพูดต่อไปว่าเอื้อไม่สำเร็จอย่างไร" นายวิษณุ ชี้แจง
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นเดียวกันว่า การแก้ไขสัญญาศูนย์สิริกิติ์ พร้อมมีแผ่นภาพประกอบ ว่า ปี 2556 สมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใช้บังคับเมื่อเเดือนเมษายน 2556 กำหนดให้รัฐบาลทบทวนสัญญาในโครงการกับเอกชนได้ ทั้งนี้เข้าใจว่าเป็นความตั้งใจแก้ไขปัญหาในบางโครงการที่ติดขัด เช่น โครงการที่แหลมฉบัง, โครงการที่หมอชิต, โครงการศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ไม่เจาะจงเฉพาะโครงการใดโครงการหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้กรณีของศูนย์ประชุมสิริกิติ์นั้น มีข้อเสนอจาก บริษัท เอ็น.ซี.ซี เป็นผู้เสนอให้ปรับปรุงสัญญา การปรับปรุงสัญญาได้ว่าจ้างสถาบันศึกษาดำเนินการ พบว่าจะคุ้มทุนที่ระยะ 47 ปี ดังนั้นระยะ 50 ปี จึงเหมาะสม และได้รับผลตอบแทน 1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ระยะเช่าดังกล่าวระบุว่าทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐ เมื่อครบสัญญาหรือผิดสัญญา หรือเลิกสัญญา.