แพทย์จุฬาฯ ชี้ ผลกระทบทางสังคมและจิตใจจาก โควิด-19
โควิด-19 โรคเกิดใหม่ ยังไม่รู้อะไรมาก และมีการระบาด จะมีผลกระทบทางสังคมและจิตใจมาก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Yong Poovorawan ชี้ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) กับ ผลกระทบทางสังคมและจิตใจ (Psycho-social)
อ่านข่าว - หมอจุฬาฯ ชี้ ข้อมูล โควิด-19 ไม่ถูกทั้งหมด
โรคเกิดใหม่ ยังไม่รู้อะไรมาก และมีการระบาด จะมีผลกระทบทางสังคมและจิตใจมาก เห็นได้ชัดตั้งแต่สมัย HIV เข้ามาสู่ประเทศไทยใหม่ๆ ใครติดเชื้อ HIV จะมีผลกระทบทางจิตใจ และแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ ทำนองเดียวกัน ขณะนี้โรค โควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน ทุกคนหวาดกลัว และมีผลกระทบทางสังคมค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งจิตใจด้วย ไม่มีใครอยากเป็นแน่นอน
ผู้ป่วย จะถูกมองว่า เป็นบุคคลที่ไม่ต้องการ ทั้งที่ความจริงไม่มีใครอยากป่วย สิ่งที่จะกระทบมาก เมื่อผู้ป่วยหายป่วยแล้ว จะกลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้อย่างไร
เราต้องแยกเรื่องให้ออก การไม่บอกความจริงก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรจะต้องได้รับการลงโทษ กฎหมายของโรคติดต่ออันตราย ก็มีอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็มีเหตุผลที่อาจจะเป็นวงจร ด้วยความน่ากลัวของโรค ที่ไม่อยากให้ใครรู้
เจ้าตัวอาจจะคิดว่าไม่เป็น โควิด-19 และไม่บอกความจริง ถ้าบอก ก็จะถูกตรวจมากมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าทางการจะให้เบิกค่าตรวจเชื้อได้ตามสิทธิ์ แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพื่อความสะดวก ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็จะเพิ่มเป็นจำนวนมาก ชุดหมี ข้าวของเครื่องใช้ ดังที่เห็นในสื่อออนไลน์
สิ่งที่ไม่ถูกต้องจะต้องถูกแก้ไข ให้ทุกคนซื่อสัตย์ มีบทลงโทษตามกฎหมายเฉพาะบุคคล
ผลกระทบทางจิตใจและสังคมของโรค โควิด-19 ขณะนี้ รุนแรงดังเห็นได้จากสื่อสังคมที่รุมประณามด้วยถ้อยคำวาจา
บุคคลข้างเคียง รวมทั้งเด็กติดเชื้อ โควิด-19 จะถูกคุกคามทางจิตใจและสังคม (bully)
ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เมื่อหายจากโรคแล้ว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างไร
ทุกคนจะต้องรู้จักการให้อภัย และอาจจะมีหน่วยงาน โดยเฉพาะทางด้านจิตวิทยา เข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะเด็กนักเรียน เพื่อลดผลกระทบทางสังคมและจิตใจ
อิทธิพลของสื่อสังคม กับการคุกคามทางจิตใจ และสังคม ในปัจจุบันค่อนข้างรุนแรงมาก เราคงต้องมาช่วยกัน ลดผลกระทบทางสังคมและจิตใจ
โรค โควิด-19 ยังคงอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควรจนกว่าจะควบคุมโรคได้ หรือ มียา วัคซีนป้องกัน ความกลัวต่างๆ ก็จะลดน้อยลง
การแก้ปัญหาโรคอุบัติใหม่ จำต้องแก้ไขพร้อมกันทุกด้าน แก้ปัญหา ป้องกันโรคไปด้วยกัน รวมทั้งต้องช่วยกันลดผลกระทบทางสังคมและจิตใจ เพื่อให้สังคมของเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ และอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข