"ญาติวีรชนพฤษภา35" เสนอสูตรปรองดอง ตั้ง "รัฐบาลช่วยชาติ"
"ญาติวีรชนพฤษภา35" เสนอ "บิ๊กตู่" เสียสละลาออก นายกฯ ตั้ง "รัฐบาลช่วยชาติ" ดึงทุกพรรคบริหารประเทศ แล้วร่างรธน.ฉบับใหม่ที่เป็น ปชต. ก่อนนักศึกษาชุมนุมลุกลามนำสู่นองเลือด
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2563 - นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง กล่าวถึงการชุมนุมแฟลชม็อบของนักศึกษาในขณะนี้ว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์มาทุกยุคสมัยเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และสนใจเรื่องราวของบ้านเมือง ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรมมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ในขณะที่สังคมไทยยังก้าวไม่พ้นความขัดแย้งและยังติดหล่มวิกฤติทางการเมือง มาปะทุหนักหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ การแสดออกของนักศึกษาจึงเป็นเรื่องธรรมชาติของคนวัยหนุ่มสาวที่ต้องการเห็นอนาคตที่สดใส จึงขอแสดงความเห็นและเสนอแนะ
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
ชงสภาฯ ดึงตัวแทน นศ. ตั้ง กมธ.วิสามัญ แก้ปัญหาไม่เป็นธรรม
ประชาธิปัตย์นัดประชุมใหญ่ 7 มีนาคม
ฝ่ายความมั่นคงเกาะติด "แฟลชม็อบ" ประเมินวันต่อวัน
1.การชุมชุมของนักศึกษาเป็นผลจากการสะสมปัญหามาในช่วง 10 กว่าปี ที่สังคมไทยเผชิญสงครามเสื้อสี ทหารยึดอำนาจรัฐประหาร 2 ครั้ง สถาบันทางการเมืองไทยเสื่อมทรุด องค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบและตัดสินข้อขัดแย้งต่างๆให้เกิดข้อยุติได้ ตั้งแต่คำวินิจฉัยในคดีซุกหุ้นที่เรียกว่า "คำวินิจฉัยสีเทา" จนถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ กระบวนการยุติธรรมก็ไร้ความน่าเชื่อถือคนบริสุทธิ์ตกเป็นแพะ-คนทำผิดลอยนวล สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนควรจะเป็นเวทีหาทางออกทางการเมือง แต่จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละฝ่ายก็เล่นละครใช้เล่ห์เหลี่ยมเอาชนะคะคานกันจนเป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ฝ่ายบริหารก็ใช้พวกมากลากไปมติพรรคอยู่เหนืออุดมการณ์พรรค เศรษฐกิจก็ถดถอย ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น การปฏิรูปประเทศไร้ทิศทาง ประชาชนจึงเริ่มสิ้นหวัง
2.นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์การจัดกิจกรรมทางการเมืองมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอยากเห็นประเทศชาติพัฒนาก้าวหน้าทันนานาประเทศที่เจริญแล้ว แต่นักศึกษาก็ยังขาดประสบการณ์ ไม่รู้เท่าทันเกมทางการเมือง จึงต้องกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวให้ชัดเจน แสดงออกด้วยความเหมาะสม และต้องไม่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด ขณะที่นักการเมืองทุกพรรคต้องไม่เข้าไปชี้นำแทรกแซงกิจกรรมของนักศึกษาไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
3.การชุมนุมภายในรั้วมหาวิทยาลัยสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากพ.ร.บ.การชุมชุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3 (4) ยกเว้นให้ชุมนุมในสถานศึกษาได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องไม่ปิดกั้นการแสดงออกและจะจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้กลุ่มประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกกต่างกันมาเผชิญหน้ากัน ซึ่งจะทำให้เกิดการยั่วยุนำไปสู่ความรุนแรงได้
4.สังคมไทยมีการใช้โชเชียลมีเดียตอบโต้กันอย่างรุนแรง รัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐก็ใช้ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) หรือ "ไอโอ" ผ่านสื่อออนไลน์ มีการสร้างข่าวปลอม(fake news) บิดเบือนกล่าวหาใส่ร้ายกันสร้างความเข้าใจผิดทำให้เกิดความเกลียดชังกัน ที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่งคือการพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงน่าเป็นห่วงว่าจะนำความแตกแยกของสังคมไทยอย่างรุนแรง ดังนั้นรัฐต้องหาทางสะกัดไอโอของทั้งสองฝ่าย และให้องค์กรที่เป็นกลางจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดและข้อร้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหาทางออกอย่างละมุนละม่อม
5.จากวิกฤติการเมืองที่สะสม รัฐบาลไม่ได้สร้างความปรองดอง ไม่ปฏิรูปประเทศ และยังสืบทอดอำนาจ การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ จึงมาถึงทางตันแล้ว หากยังดันทุรังต่อไปการชุมนุมก็จะพัฒนาแรงขึ้น อาจนำไปสู่การนองเลือดได้ จึงเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียสละเพื่อประเทศชาติด้วยการลาออกจากนายกรัฐมนตรี แล้วจัดตั้ง "รัฐบาลช่วยชาติ" นำผู้มีความรู้ความสามารถจากทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจร่วมกันตั้งรัฐบาลชุดใหม่ตามกลไกรัฐธรรมนูญ แล้วดำเนินการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ตามรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้เสนอรัฐบาลไปแล้ว และต้องปฏิรูปประเทศทุกด้าน แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง