ปชช. กระเป๋าแฟบ แค่มีรายได้ประคองตัว
โพล เผย ปชช. ส่วนใหญ่กระเป๋าแฟบ แค่มีรายได้ประคองตัว ระบุมองไปอีก 1 ปีข้างหน้าฐานะการเงินยังเหมือนเดิม ห่วงภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แนะ รบ.หวังครองใจปชช. ต้องเร่งแก้ภัยแล้ง - ผลกระทบโควิด-19
เมื่อวันที 1 มี.ค. 2563 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ข่าวที่ติดตาม กับ ภาวะการเงินของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,056 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า
ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ความสนใจติดตามข่าวของประชาชนส่วนใหญ่อยู่ที่ ข่าวภัยแล้ง สูงที่สุด ร้อยละ 89.7 รองลงมาคือข่าว ไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 89.2 ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ร้อยละ 64.9 ปัญหาฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 56.8 ข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร้อยละ 44.8 ข่าวแฟลชม็อบ ร้อยละ 37.8 ข่าวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 35.9 ข่าวอาชญากรรม ร้อยละ 34.5 ข่าวหุ้นร่วง หุ้นตก ร้อยละ 24.1 และข่าวอื่นๆ เช่น เลขเด็ด ใบ้หวย ข่าวกีฬา ข่าวต่างประเทศ เป็นต้น ร้อยละ 13.8
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึง ภาวะการเงินในกระเป๋าของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.4 ระบุแค่ประคองตัว และเกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 27.9 กำลังแย่ และ ขัดสน มีเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้นที่ มีความสุข มั่นคงดี
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เมื่อให้คนตอบแบบสอบถาม มองไปอีก 1 ปีข้างหน้า ฐานะการเงินจะเป็นเช่นไร พบว่า จำนวนมาก หรือร้อยละ 41.4 ระบุเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้ และร้อยละ 24.1 ระบุแย่ลง อย่างไรก็ตาม ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.5 ระบุจะดีขึ้น
นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.3 ระบุ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แย่ ในการซื้อสินค้าคงทนใช้ในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 20.7 ระบุเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะซื้อสินค้าคงทนเหล่านี้
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อนมานานมากแล้วในเรื่อง ภาวะทางการเงินของประชาชน อารมณ์ของผู้คนเวลานี้จดจ่อกับเงินในกระเป๋าของตนเองและภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คนที่กำลังมีความสุข มั่นคงทางการเงินมีเพียงหยิบมือเดียว รัฐบาลกำลังเผชิญกับความท้าทายที่จะครองใจประชาชนต่อไปได้นานแค่ไหน รัฐบาลจึงน่าจะเน้นเพียง 2 – 3 เรื่องที่โดดเด่นในใจของประชาชนคือ ผลกระทบของภัยแล้ง และ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่น่าจะใช้เวลานี้ออกมาตรการเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจและเชื่อมั่นว่ารัฐบาลกำลังเยียวยาผู้ประสบภัยแล้ง และสนับสนุนธุรกิจกับกิจกรรมด้านสุขภาพของประชาชนที่ยั่งยืนมากกว่าเป็นเพียงแค่กระแสใส่หน้ากากเข้าหากันในตอนนี้