ข่าว

รบ. เร่งปรับแผนจัดการน้ำท่วม-แล้ง หวั่นเสียหายสุดรอบ 20 ปี

รบ. เร่งปรับแผนจัดการน้ำท่วม-แล้ง หวั่นเสียหายสุดรอบ 20 ปี

02 มี.ค. 2563

"บิ๊กตู่" ชี้ ต้องเร่งปรับ แผนบริหารจัดการน้ำ แก้ท่วม-แก้แล้ง ไม่ใช่ 20 ปี ใช้สูตรเดียวทั้งหมด หวั่น เสียหายที่สุดในรอบ 20 ปี แต่ถ้าร่วมมือกัน ทุกอย่างจะดีขึ้น

 

 

          เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 - ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งและเตรียมการเก็บน้ำฤดูฝน ปี 2563 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ครม.ถกแก้ปัญหาภัยแล้งไฟเขียว 3 พันล. เจาะบาดาลสู้

กรมชลฯบูรณาการคนพื้นที่ เดินหน้าแก้แล้งยม-น่าน

ขนน้ำดื่ม 8 แสนลิตร แจก 30 จว. แก้แล้ง

 

รบ. เร่งปรับแผนจัดการน้ำท่วม-แล้ง หวั่นเสียหายสุดรอบ 20 ปี

 

          โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง ว่า วันนี้มีสองเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจคือ 1.ทำอย่างไรให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนพร้อมเก็บกักน้ำใช้ในฤดูแล้งและฤดูปกติได้อย่างไร 2.การแก้ปัญหาภัยแล้งที่ปีนี้มีภัยธรรมชาติหลายด้าน ทำให้ปริมาณน้ำน้อยมาก เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข ดีใจทุกคนมีส่วนร่วมทั้งผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำ ทุกหน่วยงานมีผลงานปรากฏ แต่ทำอย่างไรประชาชนจะเข้าใจ ขณะเดียวกันมีหลายพื้นที่ยังมีปัญหา เนื่องจากไม่มีการเตรียมการไว้ ทั้งนี้หน้าที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบทั้งหมด โดยขับเคลื่อนทุกอย่างให้ได้ในปี 63 เราต้องเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเราต้องเตรียมการรองรับไว้ทั้งหมด ที่ผ่านมากว่า 10 ปีหลายอย่างล่าช้า แต่เรามาเร่งรัดสร้างแหล่งน้ำในช่วงที่ผ่านมา โดยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อีกทั้งรัฐบาลระมัดระวังในเรื่องการทำงานโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

 

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ทรงห่วงใยประชาชนและทรงรับสั่งรัฐบาลว่าทำอย่างไรให้ลดผลกระทบและให้ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ รัฐบาลก็น้อมรับไว้ใส่เกล้าฯ ติดตามแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันเรามีประชากรมากขึ้นการพัฒนาประเทศในเชิงเศรษฐกิจก็ต้องมากขึ้น ขณะที่ต้องการใช้น้ำด้านต่างๆ ก็มากขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันเรามีแหล่งน้ำอย่างเดียวคือน้ำฝนที่ตกลงมา ดังนั้น ต้องร่วมมือกันให้ได้ โดยเฉพาะสภาพการเปลี่ยนแปลงเรื่องลมฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ แต่มีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จำเป็นต้องเร่งรัดปรับแผนบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่ 20 ปีใช้สูตรเดียวทั้งหมด แต่มีการปรับแผนตลอด เพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม

 

          นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้มีการสร้างที่เก็บกักน้ำเพิ่มเติมจำนวนมาก แต่เมื่อฝนไม่ตกหรือฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยก็มีปัญหา โดยมีการคาดการณ์ปี 63 จะมีปัญหาเกือบทุกภาคของประเทศ มีการประกาศเขตภัยแล้ง แล้ว 5,849 หมู่บ้าน ใน 22 จังหวัด อีกทั้งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมีการคาดการณ์ 10 ปีข้างหน้าจะมีผลต่อจีดีพีให้ลดลง 3.04 เนื่องจากเราเป็นประเทศการเกษตร ทำให้การเพาะปลูกพืชมีปัญหา ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ทำอย่างไรไม่ให้เสียหาย ซึ่งอาจเป็นภัยแล้งที่ทำให้เสียหายที่สุดในรอบ 20ปี แต่ถ้าร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้ ดังนั้น เราจะรอ รั้ง ถ่วง อะไรไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างยั่งยืน

 

          นายกฯ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลทำโครงการต่างๆ ต้องผ่านประชาพิจารณ์และความเห็นชอบของประชาชน ที่ผ่านมาหลายโครงการมีปัญหาเพราะประชาชนไม่ยินยอม จึงเป็นสิ่งที่ต้องขอความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจะผลักดันในอนาคต ดังนั้น ขอเพียงอย่างเดียวต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยขอให้เห็นแก่ประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่บางคนจะไปบิดเบือนว่าตนไปต่อว่าประชาชนอีก ขณะเดียวกันขอให้ทุกคนต้องช่วยกันประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าทุกหยด รวมถึงการอาบน้ำ การใช้น้ำและเปิดปิดก๊อกน้ำต่างๆ คนที่ไม่ขาดน้ำอาจไม่รู้สึกตรงนี้ จึงต้องสร้างจิตสำนึกรักษาน้ำ พร้อมช่วยกันปลูกป่าต้นน้ำ แต่ก็มีปัญหาการเผาป่าที่รัฐบาลได้ระดมทุกสรรพกำลังไปดับไฟป่า ซึ้งการทำลายทรัพยากรที่มีคุณค่าไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ทำไปในการล่าสัตว์ หาของป่า หรืออะไรต่างๆ ตราบใดมีการบุกรุกทำลายป่าก็เป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมได้

 

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนมองการทำงานรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเรื่องน้ำ และผลงานการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งอยากให้สนใจเรื่องนี้บ้าง ดีกว่าไปสนใจเรื่องอื่นๆ หลายคนไม่สนใจแต่ไม่เป็นไรรัฐบาลจะทำต่อไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางเพิ่มเติมไปแล้วในแผนงานเร่งด่วน เพื่อหาวิธีส่งเสริมการจัดแหล่งเก็บกักน้ำ โดยหลายพื้นที่และทุกจังหวัดก็มีงบลงไป เป็นการใช้จ่ายงบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นไม่ใช่นายกฯ เอางบกลางมาตัวเลขเท่าไหร่แล้วสั่งให้ได้ทั้งหมด ทำไม่ได้ อำนาจของตนไม่ได้มีขนาดนั้น แต่ถึงมีอำนาจก็ไม่ทำเช่นนั้น เพราะทุกอย่างการใช้จ่ายงบประมาณมีการตรวจสอบทุกอัน

 

          นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขเพิ่มเติมปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 62-63 อีก 2,041 โครงการ ถ้าไม่มีปัญหาน้ำฝนหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และวันนี้ไล่ดูเร่งรัดแผนงานปี 63 มีโครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ เตรียมรับน้ำฤดูฝน 14 หน่วยงาน 1,320 โครงการที่ผ่านมางบฯล่าช้า วันนี้ต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็วเพิ่มน้ำได้ 276 ล้านลบ.ม.

 

          "แนวทางที่ดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามนโบายรัฐบาลเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนและลดความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งทุกอย่างมีบทเรียนในอดีตทั้งสิ้น ถ้าทำดีประเทศก็จะดีเรื่องการบริหารจัดการน้ำก็เช่นเดียวกัน นำอดีตมาเป็นบทเรียน ขอทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการและรายงานผลให้รัฐบาลทราบ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยขอให้ตรวจสอบพื้นที่เชิงประจักษ์และครอบคลุม กระทรวงทรัพย์ฯก็ต้องเร่งรัดปลูกฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมถึงภาคเอกชน ประชาชนและภาคธุรกิจต้องร่วมมือกัน และอยากให้สำรวจให้ชัดเจนด้วยว่าป่าปลูกเพิ่มไปเท่าไหร่ แก้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ให้เห็นความชัดเจนก่อนปลูกและหลังปลูก ถ้าร่วมมือกันเชื่อว่าแก้ได้ ถ้าไม่ร่วมมือแล้วยังเผาป่ากันอยู่ก็ยังเป็นแบบนี้" นายกฯ กล่าว

 

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะท้องถิ่น ต้อง ตรวจสอบสถานีควบคุมน้ำและประตูระบายน้ำ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ให้เงินแก้ปัญหาไปมากพอสมควร แต่หลายพื้นที่ ปรับใช้ไม่ได้มาเป็นเวลานาน ดังนั้นต้องมีการสร้างประตูน้ำเพิ่มเติมเพื่อกักเก็บน้ำ อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงด้วย ไม่ใช่รัฐบาลแก้ตัว ยืนยันรัฐบาลต้องลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด โดยการบูรณาการทุกหน่วยงาน ขณะที่ผู้ว่าฯ ต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่อย่างใกล้ชิดไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งในการประชุมตนต้องการให้กระชับขึ้นและปิดท้ายด้วยกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ จึงขอให้ปรับการประชุมที่สลับซับซ้อนให้มีผลด้านการสั่งการและมีความก้าวหน้า ไม่ใช่เน้นความบ่อยครั้งในการประชุม ซึ่งผู้ว่าฯก็เปรียบเหมือนเป็นรัฐบาลเองในระดับพื้นที่

 

          "ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจว่าภัยแล้งเป็นปัญหาหลักของประเทศ วันนี้เรามีปัญหาอยู่หลายด้าน ซึ่งปัญหาทุกปัญหาเราต้องบูรณาการแก้ปัญหา และทุกอย่างมีบทเรียนมาทั้งสิ้นจากในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราไม่เอาอดีตแล้วไปทำมันก็จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป ดังนั้นความร่วมมือของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยรัฐบาลก็ต้องซื่อสัตย์สุจริตและทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยตรง นั่นคือเจตนารมณ์และความตั้งใจของผม และคิดว่าทุกคนก็ตั้งใจแบบผม วันนี้ทำอย่างไรให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น สิ่งไม่ดีก็ช่วยกันแก้ต่อไป หลายๆอย่างอย่าให้มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดก็จะไม่มีอะไรให้โทษใครได้อีกแล้ว เพราะประเทศชาติเสียหายไปแล้วในสายตาของต่างประเทศและความเชื่อมั่นในประเทศ ทุกอย่างเสียหายไปทั้งหมด และไม่มีใครแก้ไขได้ก็คือสิ่งที่ผมต้องการให้ทุกคนทราบ" นายกฯ กล่าว