ข่าว

มพบ. ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2

มพบ. ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2

02 มี.ค. 2563

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จับมือสหภาพ กทพ. ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติครม.ต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ขัด พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุน - ขัด รธน. อัด รัฐ มโนตัวเลขแพ้คดีเกินจริง ทั้งที่ยังไม่สู้คดี

 

 

 

          เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 - น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบ ที่เห็นชอบแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่สอง(ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และระหว่างศาลพิจารณาคดีขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งระงับการบังคับใช้ตามมติครม.ดังกล่าวไว้ก่อน

 

มพบ. ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2

 

          น.ส.สารี กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยใช้เหตุผลว่า แลก 3 แสนล้านเพื่อยุติการฟ้องคดีนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจน  

 

          1.มติ ครม.ดังกล่าว เป็นมติที่ขัดหรือแย้ง หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นมติที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสาธารณะ เป็นกรณีที่เกี่ยวด้วยสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จึงต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 56 และยังเป็นกรณีที่เป็นการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการที่มีผลกระทบต่อ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชน ดังนั้นรัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษา และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา

 

           2.การดำเนินการแก้ไขสัญญาขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม ไม่เกิดการแข่งขันในการให้บริการ การเสนอแก้ไขสัญญาของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้เป็นการกระทำอย่างเร่งรีบ เนื่องจากสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) จะสิ้นสุดภายในเดือน ก.พ.63 หาก ครม.พิจารณาเรื่องนี้ภายหลังจากวันหมดอายุสัญญาดังกล่าวจะส่งผลให้ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในการดำเนินการหาเอกชนผู้ดำเนินโครงการรายใหม่ และจะไม่สามารถเจรจาขยายสัญญาฯ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ได้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ครม.มีเป้าประสงค์ที่จะให้เอกชนรายเดิมต่อสัญญาสัมปทานเพียงเจ้าเดียว

 

          3.มติ ครม.ดังกล่าว จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับหน่วยงานของรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เอกชนมีสิทธิเหนืออำนาจปกครอง และเป็นการเปิดช่องให้ใช้วิธีการสมยอมโดยทุจริตได้โดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้มติดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายแต่จำต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดรองรับว่าสามารถใช้มติ ครม.ยกเว้นหรือดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับได้ ซึ่งเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการก้าวล่วงและริดรอนอำนาจฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นอำนาจที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร  

          
          4.กรณีตัวเลขหนี้เป็นตัวเลขมโน คิดไปเองว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด เป็นมูลหนี้ที่ไม่ถูกต้องและคิดจากสิ่งที่การทางพิเศษยังไม่ได้แพ้คดีจริง ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือแม้แต่ยังไม่นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ โดยยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเท่านั้นตามข้อสังเกตของสำนักงบประมาณ เนื่องจากการพิจารณาแก้ไขสัญญาเพื่อยุติข้อพิพาทตามมติ ครม.ไม่สามารถแยกได้ว่าหนี้ที่แท้จริงของแต่ละสัญญามีมูลค่าเท่าใด แต่กลับต่อระยะเวลาของสัญญาทั้ง 3 ออกไป โดยไม่มีที่มาที่ไป

 

          5.จึงอาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดหรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้ใดโดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลและประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท 

 

          6.รัฐเสียหาย 271,721 ล้านบาท ซึ่งควรเป็นรายได้ กทพ. หรือรายได้ของประเทศ หากไม่มีการต่อสัญญาสัมปทานหลังสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 28 ก.พ.นี้ การคาดการณ์รายได้เดิมในระยะ 15 ปี 8 เดือน มาจากสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ประมาณ 233,567 ล้านบาท รวมกับรายได้ส่วน D ประมาณ 18,456 ล้านบาท และรายได้จากสัญญาบางปะอิน-ปากเกร็ด ประมาณ 19,698 ล้านบาท ทั้งที่มูลหนี้ที่ต้องชำระจำนวน 4,318 ล้านเงิน เป็นต้นเพียง 1,790 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยอีก 2,528 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับนำคดีที่ยังไม่แพ้คดี เป็นมูลหนี้เงินต้น 50,290 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีก 24,300 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 74,590 ล้านบาท เป็นความเสียหายรวมประมาณ 78,908 ล้านบาท

 

          7.เอื้อประโยชน์ให้เอกชน 26,415 ล้านบาท โดยการรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล แทนเอกชน โดยใช้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาไม่โปร่งใส ใช้ฐานข้อมูลรายได้ของรัฐที่ต่ำเกินความเป็นจริง 

 

          8.มติ ครม.ดังกล่าวเป็นมติที่ไม่มีการรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน หรือมีการศึกษาเฉพาะเป็นเพื่อการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นการสมคบคิดเพื่อผลประโยชน์ของผู้ก่อเหตุความเสียหายของภาครัฐและเอกชนผู้ลงทุนที่เรียกร้องสิทธิตามสัญญา โดยไม่กล่าวถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนหรือผู้บริโภค 

 

          9.การที่ ครม.มีมติให้แก้ไขหรือขยายระยะเวลาสัมปทานออกไป และมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางในอัตราเดิมและสูงขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญานั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และได้รับผลกระทบสูงสุด ซึ่งตรงข้ามกับหลักบริการสาธารณะที่ประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุดและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ผู้บริโภค ควรได้ใช้ทางด่วนที่หมดสัญญาสัมปทานถูกลง ยิ่งนาน ค่าผ่านทางควรถูกลง หากคิดรายได้การทางพิเศษ ร้อยละ 60% ค่าผ่านทางสามารถลดลงได้มากถึง 40% ที่เป็นส่วนแบ่งให้บริษัท นั่นคือเราจะใช้ทางด่วนในราคา 36 บาทเท่านั้น จากเดิม 60 บาท 

 

          10.รัฐบาลควรขอให้มีการเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมหรือมีการพิจาณาคดีแบบเร่งด่วน เพื่อลดมูลค่าความเสียหายที่จะเกิดจากการฟ้องคดี จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่ล่าช้า ทำให้เกิดดอกเบี้ยเกิน 100%

 

          11.ความเสียหายแน่นอนมีเพียง 1 คดี (4,318 ล้านบาท) จากจำนวน 17 คดี นอกนั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลจำนวน 5 คดี เป็นของศาลปกครองสูงสุด 1 คดีศาลปกครองกลาง 4 คดี และขั้นตอนการพิจารณาอนุญาโตตุลาการ 9 คดี และยื่นข้อเสนอ 2 คดี 

 

          12.ครม.ที่อนุมัติเห็นชอบให้ต่อสัญญาสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน ที่ใช้มูลค่าที่ไม่ถูกต้องจะต้องรับผิด แต่ข้อเท็จจริงไม่ง่ายเลยที่คณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ จึงทำให้เกิดความเสียหายซ้ำซาก เห็นได้จากบทเรียนกรณีดอนเมืองโทลเวย์