ข่าว

โควิด-19"หนักกว่า"วิกฤติต้มยำกุ้ง  

โควิด-19"หนักกว่า"วิกฤติต้มยำกุ้ง  

03 มี.ค. 2563

คอลัมน์ - ขีดเส้นใต้ โดย - นายดินสอ 

          การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี สร้างความเสียหายทั้งชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจมากมาย สังเวยชีวิตไปแล้ว เกือบ ๆ 3 พันคน เวิลดิ์แบงก์ ได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลการระบาด ว่า จีดีพี.ของทั้งโลกน่าจะถดถอยลงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรุนแรงกว่าซาร์ราว 70 เท่า ล่าสุดระบาดไปแล้ว 37 ประเทศทั่วโลก และไม่สามารถประเมินได้ว่า สถานการณ์จะเลวร้ายอีกยาวนานแค่ไหน ยังไม่มีสัญญาณว่าจะควบคุมได้หรือไม่ จึงไม่อาจประเมินผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ว่าเสียหายมากน้อยแค่ไหน

อ่านข่าว-"ผีน้อยเกาหลี" เข้าข่ายติดเชื้อโควิด 8 ราย

    ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตัดสินใจไม่ปิดพรมแดนระหว่างประเทศผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชน” วิกฤติครั้งนี้อาจจจะหนักกว่าที่คิด เพราะสมัยไข้หวัดซารส์การผลิตอุตสาหกรรมเกิดในจีนเพียง 5% ของโลก แต่ปัจจุบันกว่า 20% ดังนั้น ความเสียหายไม่น้อยกว่าสงครามการค้าอย่างแน่นอน

     ขณะที่ไทยเองเจอพิษไข้นอนซมยังไม่ฟื้น ต้องมาเจอโรคซ้ำกรรมซัดซ้ำซาก ตั้งแต่สงครามการค้า ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนอยู่นานหลายปียังได้ส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยด้วย ยังต้องประสบปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดในรอบ40ปี ฝุ่นพิษ พีเอ็ม.2.5 ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลกระทบภาคเกษตรเสียหายหนัก เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องหยุดนิ่ง

       ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกเที่ยวนี้หนักกว่าเก่าจากพิษไวรัส โควิด-19 ซ้ำเติม ทุบธุรกิจท่องเที่ยวต้องอัมพาต พัทยา ภูเก็ต นักท่องเที่ยว หายไปกว่า 80%  สูญเสียรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกทรุดหนัก สินค้าเกษตรเจอค่าเงินบาทแข็งกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ การลงทุนชะลอตัวอย่างหนัก ธุรกิจรายย่อยไม่ต้องพูดถึงตายสนิทมานานแล้ว

      ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยก็ได้พึ่งพาอาศัย ธุรกิจท่องเที่ยวช่วยประคับประคองเอาไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย นอกจากเรื่องท่องเที่ยวแล้วไทยยังนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 45.62 พันล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 12 เท่า มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงเวลาเดียวกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5.1 เท่า คือจาก 5.69 เป็น 20.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

      ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เราเห็นว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาอาศัยจีนค่อนข้างมากด้วยแต่วันนี้พิษไข้หวัดโควิด-19 ทำให้การค้าระหว่างไทยจีนต้องชะงักงัน ซัพพลายเชนต่าง ๆ เดี้ยงไปหมด  นอกจากนี้พิษของไวรัส โควิด-19 ยังลุกลามเข้าตลาดหุ้นทั่วโลกแดงเถือก นักลงทุนพากันตื่นตระหนก เทขายหุ้นหนีตายกันยกใหญ่ดัชนีไหลรูด หลุดจากระดับ 1,400 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 ปี แมลงเม่าในตลาดหุ้นตาย เป็นเบือ แค่ 1 เดือน ดัชนีหุ้นไหลรูดลงกว่า 200 จุด จากระดับ 1,600 จุด ลดลงเหลือต่ำกว่า 1,400 จุด

      วิกฤติปี 63 หากจะเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 40 ที่ไทยเป็นต้นเหตุจนลามไปหลายประเทศทั่วโลกเมื่อ 23 ปีที่แล้วนั้น ต้องบอกว่า คราวนี้หนักหนาสาหัสกว่าหลายเท่า คราวนั้นเกิดจากคนรวยไปกู้เงินดอกเบี้ยถูก ๆ มาลงทุนมาใช้จ่ายเกินตัว ค่าเงินบาทแข็งค่าการส่งออกมีปัญหาส่งผลกระทบให้ประเทศ”ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด”เจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกหนี้คืนจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจและกระทบต่อธนาคารที่กู้หนี้มาปล่อยกู้

      คราวนั้นเป็นวิกฤติที่เกิดกับคนรวย กระทบกับธุรกิจธนาคารก่อนแล้วค่อยลามลงมาถึงภาคการผลิตและธุรกิจทั่วไป บริษัทต่าง ๆ เลิกจ้างพนักงาน โรงงานก็ลอยแพคนงานกระทบคนในเมือง แต่ไม่กระทบภาคเกษตร ไม่กระทบคนในชนบท พนักงานคนงานยังมีชนบท มีภาคเกษตรรองรับกลับไปตั้งหลักได้

     เมื่อเกิดวิกฤติแบงก์ชาติประกาศ”ลอยตัว”ค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทอ่อนค่าจาก 25 บาทไปถึง 52 บาทเป็นโอกาสทองของสินค้าเกษตรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเกษตรกรขายสินค้าได้ราคา ทำให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแกร่ง พอที่รองรับลูกหลานตกงานในเมืองกลับมาพักพิงได้

 

       แต่ในช่วงสี่ห้าปีมานี้ วิกฤติกระทบกับเศรษฐกิจระดับล่าง เศรษฐกิจชุมชนอ่อนแรงไม่มีกำลังซื้อ นโยบายรัฐก็หลงทิศผิดทาง ยิ่งมาเกิดวิกฤติจากโควิด-19 มาซ้ำเติม กระทบตั้งแต่ฐานรากถึงเศษฐกิจระดับบน เดือดร้อนตั้งแต่คนจนชนบทกระทั่งชนชั้นกลางในเมือง

        ยังไงก็ตั้งรับให้ดีวิกฤติ 2563 เที่ยวนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี40 แน่ ๆ